โครงการแก้มลิง

  • 13/07/2021
  • จำนวนผู้ชม 176,699 คน

โครงการแก้มลิง

โครงการแก้มลิง...โครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ที่ทรงมีพระราชดำริไว้แก้ปัญหาอุทกภัยในประเทศไทย และยังคงใช้เป็นแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมจวบจนปัจจุบัน

ปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทยเป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน และตั้งแต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในเขตกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑลยาวนานกว่า 2 เดือน เมื่อปี พ.ศ. 2538 ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงมีพระราชดำริจัดทำโครงการแก้มลิง เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัย โดยอิงจากหลักการกินกล้วยของฝูงลิง

 

โครงการแก้มลิง พระราชดำริจากพฤติกรรมลิง
   
          แนวคิดโครงการแก้มลิงเกิดจากการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสถึงลิงที่อมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มได้คราวละมากๆ โดยมีพระราชกระแสอธิบายว่า

          "ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อย ๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง"

 

วัตถุประสงค์ของโครงการแก้มลิง
   
          โครงการแก้มลิงสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง โดยใช้หลักการทางธรรมชาติคือกักเก็บน้ำฝนเอาไว้ เพื่อรอเวลาระบายออก ซึ่งลักษณะการดำเนินงานของแก้มลิงจะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

 

ลักษณะและวิธีการของโครงการแก้มลิง

          1. ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบนให้ไหลไปตามคลองในแนวเหนือ-ใต้ ลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล เช่น คลองชายทะเลของฝั่งตะวันออก ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ คือ แก้มลิง ต่อไป

          2. เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำลงกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ทำการระบายน้ำจากคลองดังกล่าวออกทางประตูระบายน้ำ โดยอาศัยทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) ตามธรรมชาติ
   
          3. สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่ “แก้มลิง” ให้ระบายออกในระดับต่ำที่สุดออกสู่ทะเล เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเองอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง
   
          4. เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลองให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะเลไหลย้อนกลับ โดยยึดหลักน้ำไหลทางเดียว (One Way Flow)

 

โครงการแก้มลิงมีกี่ประเภท

          โครงการแก้มลิงแบ่งออกเป็น 3 ประเภท โดยแยกตามขนาดของแก้มลิง ดังนี้

1. แก้มลิงขนาดใหญ่
   
          แก้มลิงขนาดใหญ่ เปรียบได้กับสระน้ำหรือบึงขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย ทุ่งเกษตรกรรม เป็นต้น โดยแก้มลิงขนาดใหญ่จะคอยรองรับน้ำฝนจากพื้นที่บริเวณนั้นๆ และจะกักเก็บน้ำไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะระบายลงสู่ลำน้ำ
   
          อย่างไรก็ตาม แก้มลิงขนาดใหญ่อย่างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย ทุ่งเกษตรกรรม จะมีวัตถุประสงค์อื่นประกอบด้วย เช่น เพื่อการชลประทานหรือเพื่อการประมง เป็นต้น
         
2. แก้มลิงขนาดกลาง
   
          เป็นพื้นที่ชะลอน้ำที่มีขนาดเล็กกว่า ก่อสร้างในระดับลุ่มน้ำ มักเป็นพื้นที่ธรรมชาติ เช่น หนอง บึง คลอง เป็นต้น
         
3. แก้มลิงขนาดเล็ก
   
          แก้มลิงขนาดเล็กมักเป็นพื้นที่สาธารณะ เช่น สนามเด็กเล่น ลานจอดรถ หรือสนามในบ้าน ซึ่งต่อเข้ากับระบบระบายน้ำหรือคลอง ทั้งนี้แก้มลิงที่อยู่ในพื้นที่เอกชนจะเรียกว่า "แก้มลิงเอกชน" ส่วนที่อยู่ในพื้นที่ของราชการและรัฐวิสาหกิจจะเรียกว่า "แก้มลิงสาธารณะ"

 

ประโยชน์ของโครงการแก้มลิง
   
          “แก้มลิง” เป็นโครงการอเนกประสงค์สำคัญยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่ช่วยบรรเทาอุทกภัยให้กับพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่านั้น แต่ยังช่วยระบายน้ำจากภาคเหนือลงสู่อ่าวไทยตามจังหวะการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกและการสูบน้ำที่เหมาะสม ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำตามคู คลองธรรมชาติในช่วงฤดูฝนอีกด้วย

          นอกจากนี้โครงการแก้มลิงยังช่วยป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้ง ไม่ให้น้ำเค็มจากทะเลไหลเข้าสู่แม่น้ำลำคลองและพื้นที่การเกษตร รวมทั้งแก้มลิงยังสามารถเก็บกักน้ำจืดไว้ด้านเหนือประตูระบายน้ำ ประชาชนจึงสามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรกรรมอุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภคอีกด้วย

          ที่สำคัญโครงการแก้มลิงยังมีส่วนสำคัญในการช่วยอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากน้ำที่ถูกกักเก็บไว้ในแก้มลิงต่างๆ เมื่อถูกระบายสู่คู คลอง จะไปช่วยบำบัดน้ำเน่าเสียให้เจือจางลง กระทั่งผลักดันให้น้ำเน่าเสียเดิมที่มีอยู่ ถูกระบายออกไปได้ในที่สุด

 

และแม้วันนี้พระองค์จะเสด็จสู่สวรรคาลัย แต่พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่จะสถิตอยู่ในใจคนไทยชั่วกาลนาน ไม่ต่างจากโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ที่จะก่อเกิดประโยชน์แก่ลูกหลานเราสืบไป ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงาน กปร. 
มูลนิธิชัยพัฒนา
ห้องสมุด มสธ. 
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

ภาพจาก มูลนิธิมั่นพัฒนา

ภาพจาก สำนักงาน กปร.

ภาพจาก เรารักพระเจ้าอยู่หัว

ภาพจาก โครงการชลประทานสุโขทัย

ภาพจาก Kapook.com

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย