“เลอตอ” กับ 4ปี ที่เปลี่ยนไป....

  • 19/07/2021
  • จำนวนผู้ชม 5,227 คน

 4ปี ที่เปลี่ยนไป “เลอตอ”

จากพื้นที่ที่มีปัญหา หมู่บ้านที่ไม่ใครรู้จัก ชาวบ้านยากจน การเดินทางยากลำบาก ห่างไกลความเจริญ สู่การได้รับโอกาสที่สร้างความยั่งยืน และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชาวเขาไปในทางที่ดีขึ้น ปี 2559 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอศูนย์ลำดับที่ 39 ของมูลนิธิโครงการหลวง ได้ก่อตั้งขึ้นในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตั้งอยู่ในเขตตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก พื้นที่ภูเขาสูงชัน สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปแห้งแล้ง มีการบุกรุกขยายพื้นที่ป่าเพื่อปลูกข้าวโพด และเป็นพื้นที่ที่มีการลักลอบปลูกฝิ่นแหล่งใหญ่ของประเทศ จากรายงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เมื่อ พ.ศ. 2552 มีพื้นที่ผลูกฝิ่นจาก 204 ไร่เพิ่มขึ้นเป็น 452.37 ไร่ ในปี 2558/2559

 

มูลนิธิโครงการหลวงเข้าไปช่วยเหลือจากการร้องขอของราษฎรในพื้นที่ โดยเริ่มดำเนินงานตามรูปแบบและแนวทางโครงการหลวงโมเดล (Royal Project Model)        ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเพื่อแก้ปัญหาการปลูกฝิ่น ความยากจน รวมทั้งการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลที่เป็นจริงในพื้นที่ วางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและถูกต้องตามกฎหมายโดยได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ภายใต้โครงการพัฒนาป่าไม้ในพื้นที่โครงการหลวงเลอตอ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติท่าสองยาง ป่าสงวนแห่งชาติป่าสามหมื่น และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ระมาด เนื้อที่รวม 126,569 ไร่ 1 งาน 56 ตารางวา แบ่งพื้นที่ดำเนินการออกเป็น พื้นที่คงสภาพป่า 71,122.28 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 67 ของพื้นที่ ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ ได้แก่ แปลงเกษตรกร ที่อยู่อาศัยของราษฎรรวมทั้งประสานหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการร่วมดำเนินการปรับปรุงเส้นทางคมนาคม ไฟฟ้า ระบบชลประทาน และพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตร

 

ภารกิจด้านการสร้างอาชีพทดแทน เริ่มต้นด้วยการศึกษาวิจัยการเจริญเติบโตของพืชต่าง ๆ เพื่อคัดเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และส่งเสริมการผลิตพืชปลอดภัยเป็นทางเลือกแก่เกษตรกร จากจุดเล็ก ๆ เพื่อเป็นตัวอย่าง เกษตรเริ่มแรกเพียง 10 ราย จึงขยายออกไปปัจจุบันนี้มีจำนวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 130 ราย มีพืชสร้างอาชีพสำคัญได้แก่ คะน้าฮ่องกง หัวไชเท้า เสาวรส สตรอว์เบอร์รี กาแฟและพืชไร่ เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 20,000 บาท/ปี สูงกว่ารายได้จากฝิ่น และการปลูกข้าวโพด รวมทั้งยังใช้พื้นที่เพาะปลูกน้อยกว่าข้าวโพดถึง 14 เท่า

 

จากการพัฒนากว่า 4 ปี นำมาสู่ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และดำเนินงานมุ่งสู่เป้าหมายสำคัญตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือ...

     - พื้นที่ปลูกฝิ่นลดลง กว่าร้อยละ 98

     - พื้นที่เขาหัวโล้นปรับเปลี่ยนไปสู่พื้นที่สีเขียว

   - เป็นชุมชนที่พัฒนาอย่างสมดุลทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

  - เป็นศูนย์สาธิตการปลูกพืชทางเลือกแบบโครงการหลวง เพื่อเป็นตัวอย่างราษฎร นักเรียน เยาวชนในพื้นที่

 - เป็นพื้นที่ตัวอย่างที่คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืนโดยการจัดระเบียบการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ขัดต่อกฎหมาย ด้วยการประสานความร่วมมือของภาครัฐที่เกี่ยวข้องแยกส่วนที่เป็นป่า และพื้นที่เพาะปลูกออกจากกัน

    - ฟื้นฟูป่าส่วนที่เสื่อมโทรม ส่งเสริมการปลูกป่าชาวบ้านตามแนวพระราชดำริป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ในพื้นที่เกษตรได้จัดทำแปลงในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ใช้โรงเรือนเพื่อลดพื้นที่ และเพิ่มปริมาณการผลิตต่อหน่วย รวมทั้งป้องกันความเสียหายจากปัจจัยแวดล้อม

     - พัฒนาและส่งเสริมการรวมกลุ่มของเยาวชน กลุ่มสตรี ในพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง โดยความร่วมกับมือหน่วยงาน เช่น กลุ่มหัตถกรรม กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ (ร่วมกับ พม. สวพส.)โครงการ Safe Zone การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในพื้นที่ศูนย์เลอตอ (ร่วมกับป.ป.ส.) และโครงการอุตุนิยมวิทยาเสียงตามสาย  (ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา)

 

แหล่งข้อมูล : มูลนิธิโครงการหลวง 

 

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย