ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ | 39 เส้นทางศูนย์เรียนรู้โครงการหลวง

  • 03/08/2021
  • จำนวนผู้ชม 2,493 คน

 

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ
บ้านสะโง้ ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

 

 

จากจุดเหนือสุดของประเทศไทยที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ดินแดนสามเหลี่ยมทองคำและแม่น้ำโขง พื้นที่รอยต่อระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย สาธารณรัฐประชาชนลาว และ เมียนม่า พื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ และเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านดอยสะโง้  ที่ในอดีตบริเวณนี้ชาวเขาที่อาศัยอยู่มีฐานะยากจน และปลูกพืชเสพติดสร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2521  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังหมู่บ้านสะโง้ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้พระราชทานสิ่งของ ยาชุด เครื่องเขียนแบบเรียนต่าง ๆ แก่ครู นักเรียน ตลอดจนเจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์ และกรมพัฒนาที่ดินที่ประจำอยู่หมู่บ้านสะโง้ ต่อมาจึงได้มีการก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะขึ้นในปี พ.ศ. 2522  อย่างเป็นทางการในรูปแบบงานอาสาพัฒนาชาวเขา โดยความร่วมมือของมูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยแม่โจ้

 

ปัจจุบันศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ มีประชากรในความรับผิดชอบของศูนย์ฯ จำนวน 4 หมู่บ้าน รวม 1,105 ครัวเรือน 2,976 คน เป็นชาวอาข่า ไทลื้อ และคนเมือง การดำเนินงานของศูนย์ฯ ได้มุ่งเน้นการพัฒนาส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง ปลูกจิตสำนึกให้รักและหวงแหนป่าต้นน้ำ รวมทั้งการพัฒนาระบบการบริหารร่วมกับหน่วยงานราชการ ตลอดจนการมีส่วนร่วมของชุมชนต่าง ๆ ให้เห็นความสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกรในการเพาะปลูกพืชผักภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย โดยศูนย์ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ได้แก่ องุ่น เสาวรส ผักกาดกวางตุ้ง มะเขือม่วงก้านดำ มันเทศญี่ปุ่น ฟักทองญี่ปุ่น และยังเป็นศูนย์เรียนรู้ศึกษาดูงานด้านการแปรรูปสมุนไพรอบแห้ง โดยทางศูนย์ฯ มีพืชสมุนไพรที่ส่งเสริม จำนวน  3 ชนิด ได้แก่ เก๊กฮวย ดอกคาร์โมมาย และหญ้าหวาน  มีเกษตรกรเข้าร่วมปลูกพืชสมุนไพร 250 ครอบครัว พื้นที่เพาะปลูก 42.5 ไร่

 

“เก๊กฮวย” พืชเศรษฐกิจ พลิกชีวิตเกษตรกร

ดอกเบญจมาศป่า หรือดอกเก๊กฮวยสีเหลือง ได้ถูกนำมาส่งเสริมให้เกษตรกรในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ปี 2552 และเกษตรกรได้ทดลองปลูกจนได้ดอกเก๊กฮวยมีคุณภาพดี จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นกว่า 50,000 บาท /ครัวเรือน และเป็นแหล่งที่ปลูกดอกเก๊กฮวยสีเหลืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ สำหรับกระบวนการผลิตเก๊กฮวย เกษตรกรจะเริ่มปลูกดอกเก๊กฮวยในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน-มกราคม จากนั้นเก็บเกี่ยวดอกสด นำมาส่งให้ทางศูนย์ฯ ทำการแปรรูป โดยใช้กระบวนการอบแห้ง เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เก็กฮวยอบแห้งที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ จำหน่ายในร้านโครงการหลวงและผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรดอยคำ

 

ทั้งนี้ในส่วนของขั้นตอนกระบวนการอบแห้ง มูลนิธิโครงการหลวงได้รับมอบเครื่องอบแห้งระบบถาดหมุน จำนวน 8 เครื่อง จากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ ภายใต้โครงการการพัฒนากระบวนการแปรรูปดอกคาโมมายล์ ดอกเบญจมาศป่า (เก๊กฮวย) และพืชสมุนไพรอบแห้ง โดยเป็นเครื่องอบแห้งลมร้อน (Tunnel dryer) ขนาด 500 กิโลกรัมต่อครั้ง ซึ่งสามารถรองรับปริมาณผลผลิตได้มากถึง 250 ตันสดต่อปี ซึ่งช่วยลดการสูญเสียผลผลิตสดที่รอการอบแห้ง กระจายความร้อนในห้องอบแห้งได้ทั่วถึง สม่ำเสมอ ทำให้รองรับปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถเป็นเครื่องต้นแบบที่ได้มาตรฐานช่วยยกระดับกระบวนการแปรรูปสมุนไพรชาดอกไม้ได้มากยิ่งขึ้น

 

แหล่งข้อมูล : มูลนิธิโครงการหลวง

…………………………………………………..

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย