“แมลงบั่ว” ศัตรูตัวฉกาจของข้าว

  • 05/10/2021
  • จำนวนผู้ชม 812 คน

แมลงบั่ว.. เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของข้าวนาและข้าวไร่บนพื้นที่สูง ทำให้พันธุ์ข้าวท้องถิ่นเดิมที่เคยให้ผลผลิตสูงและนิยมบริโภคหรือกินอร่อยกลับมีผลผลิตลดลง ซึ่งเริ่มจากตัวเต็มวัยของแมลงบั่ววางไข่บนใบข้าว จากนั้นตัวหนอนเข้าไปกัดส่วนยอดหรือเนื้อเยื่อเจริญด้านในต้นข้าว ต้นข้าวที่ถูกทำลายจะแสดงอาการแคระแกรน ใบสั้นและมีสีเขียวเข้ม ใบข้าวไม่คลี่ออกและเปลี่ยนเป็นหลอดคล้ายลักษณะ “หลอดหอม” ข้าวต้นจะไม่มีโอกาสได้ออกรวง ช่วงระยะการเข้าทำลายของแมลงบั่วประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์จะพบคราบดักแด้บริเวณปลายหลอดหอม นั่นแสดงว่าตัวหนอนได้กัดกินส่วนยอดต้นข้าวไปแล้ว และกลายเป็นดักแด้ เมื่อเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัยจึงเจาะรูออกสู่ภายนอก
 

 

จากความร้ายกาจของแมลงบั่วส่งผลให้ข้าวดอยในบางพื้นที่มีผลผลิตลดลงถึงร้อยละ 40 เช่น พื้นที่เลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ที่ผ่านมาเกษตรกรพยายามหาข้าวพันธุ์ใหม่เข้ามาปลูกเพื่อทดแทนพันธุ์เดิม แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงได้ร่วมมือกับภาควิชาพืชศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินงานวิจัยปรับปรุงและคัดเลือกพันธุ์ข้าวท้องถิ่นของพื้นที่สูงให้ทนทานต่อแมลงบั่ว ได้พันธุ์ที่ทนทานต่อแมลงบั่ว 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์บือแม้ว และพันธุ์บือวาเจาะ ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ชุมชนในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก นิยมปลูกและบริโภค

 

จากการนำพันธุ์ข้าวที่ปรับปรุงพันธุ์ไปปลูกทดสอบและคัดเลือกร่วมเกษตรกรในพื้นที่อื่นระหว่างปี พ.ศ. 2559-2563 พบว่า ที่ระยะ 80 วันหลังปักดำพบการเข้าทำลายของแมลงบั่วมากที่สุด ซึ่งเป็นช่วงระยะข้าวตั้งท้อง โดยความรุนแรงของการระบาดเกิดขึ้นแบบปีเว้นปี ดังตัวอย่าง 2 พื้นที่ ดังนี้

           

- พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ่อเกลือ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน (ระดับความสูง 900 MSL) การเข้าทำลายของแมลงบั่วและผลผลิตข้าวที่ได้ในแต่ละปีไม่แน่นอน (ภาพ 1-2) ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาฤดูนาปี พ.ศ.2562 พบแมลงบั่วเข้าทำลายข้าวสูงถึงร้อยละ 9 ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลงสูงสุด 610 กก.ต่อไร่ หรือลดลงร้อยละ 63

         

- พื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก (ระดับความสูง 600-700 MSL) พบว่า ฤดูนาปี พ.ศ. 2560 และ 2562 แมลงบั่วเข้าทำลายมากสุด ร้อยละ 2 และ 75.3 ตามลำดับ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลงต่ำสุดที่ 300-350 กิโลกรัมต่อไร่ หรือลดลงร้อยละ 18-29

 

จากการนำข้าวพันธุ์บือแม้วและพันธุ์บือวาเจาะไปปลูกทดแทนพันธุ์ท้องถิ่นเดิมของพื้นที่บ่อเกลือและเลอตอ ทำให้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยของทั้ง 2 พื้นที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10-20 ในปี 2562 อีกทั้งเกษตรกรมีความความพึงพอใจในคุณภาพการหุงต้ม (กินอร่อย) และให้ผลผลิตสูง โดยเกษตรกรมากกว่า 20 รายในพื้นที่เลอตอได้ปลูกขยายต่อเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารต่อไป

 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่  https://www.hrdi.or.th/Articles/Detail/1458

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย