IPM ในสวนไม้ผลบนพื้นที่สูง

  • 23/11/2021
  • จำนวนผู้ชม 633 คน

IPM ในสวนไม้ผลบนพื้นที่สูง

IPM การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน  (Integrate Pest Management) เป็นการเลือกใช้วิธีควบคุมศัตรูพืชวิธีการต่างๆ และนำมาใช้ร่วมกัน ผสมผสานกัน ให้ถูกต้อง ถูกเวลา เหมาะสมกับสถานการณ์ และสภาพพื้นที่ โดยใช้กลไกการควบคุมโดยศัตรูธรรมชาติ ใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่เหมาะสมกับศัตรูพืช เน้นความปลอดภัย เพื่อลดปริมาณศัตรูพืชในพื้นที่นั้น ลดความเสี่ยงต่อคน และรบกวนระบบนิเวศเกษตรและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด แล้วการจัดการศัตรูพืชแบบ IPM ในสวนไม้ผลต้องทำอะไรบ้าง?

             เริ่มตั้งแต่การเลือกชนิดไม้ผลให้เหมาะสมกับพื้นที่ปลูก เช่น มีการระบายน้ำดี สภาพอากาศหรืออุณหภูมิที่เหมาะสมกับพืช เพื่อให้ต้นเจริญเติบโตได้อย่างแข็งแรง สมบูรณ์ ดิน ควรมีการจัดการดินก่อนปลูก เช่น การไถพรวนกลับหน้าดินเพื่อทำลายไข่และตัวอ่อนของแมลง การปรับโครงสร้างดิน ป้องกันโรคทางระบบรากของพืช การปรับสภาพดินให้มีระดับ pH ที่เหมาะสมเพื่อให้พืชดูดธาตุอาหารไปใช้ได้ และลดอาการขาดธาตุอาหาร ซึ่งเป็นการดูแลและปรับปรุงสภาพแวดล้อมของต้นพืชให้สมบูรณ์ การปลูกต้นพืชที่แข็งแรง ปลอดโรค ต้นไม้ผลที่แข็งแรงจะทนต่อการทำลายของโรคแมลงได้ การปลูกพืชระหว่างต้นไม้ผล เช่น การปลูกตะไคร้หอมเป็นแนวระหว่างต้นเพื่อไล่แมลงศัตรูพืชและใช้เป็นวัตถุดิบผลิตน้ำหมักสมุนไพร การปลูกแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน หรือปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อไม่ให้มีแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของศัตรูพืช วัชพืช กำจัดวัชพืชที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของศัตรูพืช การสังเกตและเฝ้าระวัง สำรวจดูร่องรอยการทำลายของโรคแมลงและเลือกใช้วิธีการในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ในแมลงศัตรูให้เน้นสารกำจัดศัตรูพืชมากกว่าสารป้องกัน และโรคพืชให้เน้นการใช้สารป้องกันมากกว่าสารกำจัด ด้วยเหตุนี้การเฝ้าระวังจะเป็นเหตุสำคัญที่เกษตรกรต้องให้ความสำคัญ การจัดการศัตรูพืช เช่น วิธีกล โดยการจับหนอนไปทำลาย เด็ดใบหรือยอดอ่อนที่พบโรคแมลง การตัดแต่งกิ่งไม้ผล ทำให้แสงแดดส่องผ่านได้มากยิ่งขึ้นเพื่อจำกัดที่อยู่อาศัยของแมลง การใช้กับดักแมลง สารล่อแมลง  การใช้ตาข่ายคลุมแปลง  การห่อผล การใช้รังสีทำให้แมลงวันผลไม้เป็นหมัน การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี เช่น การใช้ชีวภัณฑ์ การใช้กลไกศัตรูธรรมชาติหรือตัวห้ำตัวเบียนในการควบคุมศัตรูพืช การใช้น้ำหมักสมุนไพร รวมทั้งการเลือกสายพันธุ์พืชที่มีความต้านทานโรค และทางเลือกสุดท้ายคือ การใช้สารเคมีเกษตร ซึ่งต้องเลือกใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสมดุลทางธรรมชาติและไม่ตกค้างในระดับที่เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค

 

ในสวนไม้ผลบนพื้นที่สูง มีการระบาดของแมลงศัตรูพืช ดังนี้

         (1) แมลงที่ระบาดเป็นครั้งคราว เป็นแมลงที่อาศัยอยู่ในถิ่นนั้นเป็นเวลานาน เป็นศัตรูที่ไม่สำคัญ แต่อาจมีความสำคัญระบาดทำลายพืชจนสูงกว่าระดับเศรษฐกิจ (Economic Threshold) ได้ ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการแพร่พันธุ์ของแมลงศัตรูพืช ได้แก่ เพลี้ยหอย หนอนชอนใบ มวนเขียวส้ม แมลงวันทอง แมลงค่อมทอง หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมในการแพร่พันธุ์ของตัวห้ำและตัวเบียนที่เป็นประโยชน์ การระบาดของแมลงกลุ่มนี้ควรเก็บข้อมูลการระบาดทุกปีเพื่อเตรียมการป้องกันและกำจัดการระบาดก่อนจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่พืชได้ และ

         (2) แมลงที่ระบาดประจำ เป็นการระบาดของแมลงที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แมลงในกลุ่มนี้ได้แก่ เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไก่แจ้ส้ม และไรแดง การระบาดของแมลงเหล่านี้ต้องมีการป้องกันกำจัดทุกปีเพื่อให้ได้ผลและเหมาะสมกับสภาพการปลูกนั้นๆ โดยส่วนมากจะใช้วิธีการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) ซึ่งเกิดผลในระยะยาว สามารถควบคุมศัตรูพืชได้อย่างยั่งยืน

 

          สภาพพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลที่แตกต่างกันก็มีผลต่อการระบาดของโรคแมลง โดยพื้นที่ต่ำที่มีสภาพภูมิอากาศที่ร้อนกว่าจะพบการระบาดของแมลงในช่วงเวลาก่อนและพบการระบาดที่มากกว่าที่พบในพื้นที่สูงที่มีอากาศเย็น เนื่องจากมีสภาพอากาศร้อนเหมาะสมต่อการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช นอกจากนี้ การปลูกไม้ผลชนิดเดิมเป็นระยะเวลานานจะมีการแพร่ระบาดของแมลงและโรคพืชต่อเนื่องมากกว่าพื้นที่ที่มีการปลูกหมุนเวียน แต่สามารถจัดการเพื่อตัดวงจรชีวิตของแมลงศัตรูพืชไม่ให้มีการแพร่ระบาดต่อไปได้

         ดังนั้น ในการเลือกวิธีการจัดการโรคแมลงศัตรูของไม้ผล เกษตรกรต้องมีความเข้าใจและใส่ใจสำรวจดูแลแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ การใช้ชีวภัณฑ์หรือสารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระยะเวลายาวนาน ส่งผลให้แมลงเกิดการดื้อยา (Insect Pesticide Resistance) และใช้ไม่ได้ผล จะต้องใช้ปริมาณสารเคมีที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การสำรวจศัตรูพืชในแปลงอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จึงมีความสำคัญมากในการควบคุมศัตรูพืชด้วยวิธีการ IPM จะทำให้เกษตรกรสามารถจัดทำแผนการจัดการศัตรูพืชให้สอดคล้องกับระยะการเจริญเติบโตของต้นไม้ผล และสามารถป้องกันกำจัดศัตรูพืชในระยะยาวได้  

 

แหล่งข้อมูล :  https://www.hrdi.or.th/Articles/Detail/112

 

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย