ต้นเสม็ดขาว..พรรณไม้แปลกมากประโยชน์

  • 31/01/2022
  • จำนวนผู้ชม 9,868 คน

วันนี้เราจะพามารู้จักความพิเศษที่ไม่ธรรมดาของ"ต้นเสม็ดขาว" (Melaleuca cajuputi) หนึ่งในพรรณไม้ภายในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ของเรา ไม้ต้นขนาดใหญ่ที่มีชื่อสามัญว่า Paper bark tree มาจากลักษณะเปลือกที่นุ่มและหลุดลอกเป็นแผ่นคล้ายกระดาษ เสม็ดขาวเจริญเติบโตได้ดีในหลายๆ พื้นที่ทั้งพื้นที่แห้งแล้ง พื้นที่ที่มีดินเค็ม น้ำท่วมขัง แต่เป็นพรรณไม้เด่นที่พบมากในพื้นที่ป่าพรุภาคตะวันออกและภาคใต้ เสม็ดขาวจัดเป็นไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง เนื่องจากใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน ได้แก่

 

- เปลือก ที่หนานุ่ม ใช้เป็นขี้ไต้จุดไฟให้แสงสว่าง รวมทั้งใช้ยัดฟูก และหมอน

- เนื้อไม้ ใช้ทำที่พักอาศัย เสาบ้าน ฟืน และการแปรรูปต่างๆ

- ใบ ใช้ชงเป็นชาสมุนไพร และอีกทั้งน้ำมันหอมระเหยจากใบนำมาสกัดเป็นน้ำมันเขียว คล้ายน้ำมันจากยูคาลิปตัส ไม่เป็นที่น่าแปลกใจ เพราะเสม็ดขาวอยู่ในวงศ์เดียวกันต้นยูคาลิปตัสนั่นเอง น้ำมันหอมระเหยจากใบเสม็ดขาวมีชื่อเรียกทางการค้าว่า cajuput oil หรือ Melaleuca oil ใช้ทำยาหม่อง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และมีสรรพคุณไล่ยุง

 

นอกจากประโยชน์เหล่านี้แล้วเสม็ดขาวยังเป็นไม้ที่ให้ร่มเงา มีประโยชน์ทางนิเวศวิทยา เนื่องจากป่าเสม็ดขาวเป็นที่อยู่อาศัยของนกน้ำ ผึ้ง และยังมีบางประเทศใช้ป่าเส็ดขาวเป็นพื้นที่ปรับน้ำเปรี้ยวที่มีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ต่ำ ให้มีระดับที่สูงขึ้น

 

ในสัปดาห์หน้าเราจะแชร์เกร็ดความรู้ความหลากหลายทางชีวภาพเรื่องไหน?  รอติดตามกันนะ

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย