ภูมิปัญญาผ้าไหมไทยที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ

  • 18/08/2022
  • จำนวนผู้ชม 620 คน

ผ้าไหม กับภูมิปัญญาไทย ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ จนกลายเป็นศิลปะหัตถกรรมที่สวยงามและได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย 

 จนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญลักษณ์นกยูงไทยให้เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย ซึ่งเรียกว่า "ตรานกยูงพระราชทาน" เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้เครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทานให้แพร่หลายทั่วโลกจึงได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทานในต่างประเทศอีก 35 ประเทศ ได้แก่ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จำนวน 27 ประเทศ จีน นอร์เวย์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ อินเดีย และฮ่องกง โดยปัจจุบัน กรมหม่อนไหมเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการให้การรับรอง ซึ่งจะให้การรับรองเฉพาะผ้าไหมที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น 

 

ตรานกยูงพระราชทานมี 4 ประเภท ได้แก่

-  นกยูงสีทอง (Royal Thai Silk) : เป็นผ้าไหมที่ผลิตโดยใช้เส้นไหมและวัตถุดิบตลอดจนกระบวนการผลิต
ที่เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยอย่างแท้จริง โดยต้องใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านเท่านั้น เส้นไหมต้องสาวด้วยมือผ่านพวงสาวลงภาชนะ ทอด้วยกี่ทอมือแบบพื้นบ้านชนิดพุ่งกระสวยด้วยมือ ย้อมด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

- นกยูงสีเงิน (Classic Thai Silk) : เป็นผ้าไหมที่ผลิตขึ้นโดยยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านผสมผสานกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือและกระบวนการผลิตในบางขั้นตอน สามารถใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านหรือ
พันธุ์ไทยปรับปรุง การสาวไหมใช้การสาวด้วยมือ หรือสาวด้วยอุปกรณ์ที่ใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนไม่เกิน 5 แรงม้าก็ได้ ทอด้วยกี่ทอมือชนิดพุ่งกระสวยด้วยมือหรือกี่กระตุกก็ได้

- นกยูงสีน้ำเงิน (Thai Silk) : เป็นผ้าไหมชนิดที่ผลิตด้วยภูมิปัญญาของไทยแบบประยุกต์ ใช้เทคโนโลยี
การผลิตเข้ากับสมัยนิยมและเชิงธุรกิจ ใช้เส้นไหมแท้ไม่กำหนดพันธุ์ ย้อมด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และทอด้วยกี่แบบใดก็ได้

- นกยูงสีเขียว (Thai Silk Blend) : เป็นผ้าไหมที่ผลิตด้วยกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ผสมผสานกับภูมิปัญญาไทยในด้านลวดลายและสีสันระหว่างเส้นใยไหมแท้กับเส้นใยอื่นที่มาจากธรรมชาติ หรือเส้นใยสังเคราะห์รูปแบบต่างๆ ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน หรือตามความต้องการของผู้บริโภค แต่ต้องใช้เส้นไหมแท้เป็นส่วนประกอบหลัก และต้องระบุส่วนประกอบของเส้นใยอื่นให้ชัดเจน ทอด้วยกี่แบบใดก็ได้ และย้อมด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

 

 ข้อมูลอ้างอิง : กรมหม่อนไหม: https://qsds.go.th/newqsissout/?page_id=2097.

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย