เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๕ (Ep. 3/3)

  • 08/12/2016
  • จำนวนผู้ชม 15,063 คน

เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๕
(Ep. 3/3)

ดอกชบา ดอกไม้ประจำชาติของมาเลเซีย

Bunga Raya is the National Flower of Malaysia

 

จากบทความพรรณไม้ เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ 5 (Ep. 2/3) จะเห็นได้ว่านานาประเทศก็จะใช้ประโยชน์จากชบาคล้ายกันบ้างต่างกันบ้าง แต่คงสงสัยแล้วใช่ไหมครับว่า แล้วคนไทยเราเองละ เชิญติดตามต่อได้เลยครับ

 

ประเทศไทย : ดอกชบา; Cha-baa

          สำหรับประเทศไทยแล้วถือได้ว่า “ชบา” เป็นไม้ดอกไม้ประดับที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ตามความเข้าใจของนักพฤกษศาสตร์กล่าวว่า ชบาเป็นไม้พื้นเมืองของประเทศจีน ไทยเราจึงน่าจะนำชบาเข้ามาจากจีนตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัย ด้วยเหตุที่ว่าในสมัยนั้นคนไทยได้เริ่มติดต่อค้าขายกับชาวจีน อีกเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนนั้น คือ คำว่า “ดอกชบา” ได้ปรากฏในวรรณกรรมอย่างหนังสือไตรภูมิพระร่วง ที่ประพันธ์ขึ้นในสมัยสุโขทัย มีความตอนหนึ่งที่พรรณนาถึงฉัพพรรณรังสีของพระพุทธเจ้าว่า

 

“...แลว่าพระรัศมีอันหนึ่งมีพรรณแดงดังแสงน้ำครั่งแลชาติหิงคุ แล ดอกชบา ดังดอกถีทับทิมฯ…”

 

ซึ่งจากข้อความดังกล่าวข้างต้นทำให้ทราบว่าดอกชบาเป็นที่รู้จักตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัย และเป็นชบาดอกสีแดง ข้อมูลทั้งสองเห็นจะสอดคล้องไปในทางเดียวกัน

 

         อีกข้อสันนิฐานหนึ่งนั้น เห็นว่าชบาน่าถูกจะนำเข้ามาจากอินเดีย ด้วยเหตุที่คนไทยได้รับเอาอิทธิพลทางวัฒนธรรม และความเชื่อที่เกี่ยวกับดอกชบามายึดถือปฏิบัติ ดังได้ปรากฏในกฎหมายของไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ว่าด้วยพระไอยการลักษณะผัวเมีย ข้อ 90 ว่า

 

...“หญิงคนเดียวมันทำชู้ด้วยชายคนหนึ่งก่อน แล้วหญิงคนนั้นมาทำชู้ด้วยชายอีกคนหนึ่งเล่า ชู้ก่อนมันแทงชู้หลังตายก็ดี ชู้หลังมันแทงชู้ก่อนตายก็ดี ท่านว่าเป็นหญิงร้าย ให้ทวนมัน 30 ที แล้วให้โกนศีรษะหญิงนั้นเป็นตะแลงแกง ทัดดอกชบาสองหู ขึ้นขาหย่างประจาร 3 วัน”…

 

บทลงโทษในกรณีดังกล่าวข้างต้นนั้น มีรายละเอียดปลีกย่อย และมีลำดับขั้นตอนที่ยึดถือปฏิบัติอีกมาก ข้อที่ดูจะเกี่ยวข้องกับดอกชบานั้น นอกจากนำดอกชบามาทัดหูทั้งสองข้างแล้ว ยังจะต้องเอาชบาดอกสีแดงมาร้อยเป็นพวงมาลัยสวมคออีก ซึ่งอาจอนุมานได้ว่าดอกชบาที่ใช้ทัดหูก็น่าจะเป็นชบาดอกสีแดงเช่นเดียวกัน ก่อนจะถูกนำตัวไปประจาน (ส.พลายน้อย, 2554)

 

          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรีกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ท่านทรงโปรดให้รวบรวมชำระตัวบทกฎหมายของไทยที่ใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเสียใหม่ และให้เรียกว่า “กฎหมายตราสามดวง” ปรากฏใน พระไอยการลักษณะผัวเมีย ให้ใช้ดอกชบาในการประจาน
“ผู้หญิงอันร้าย” หรือ “ผู้หญิงแพศยา”

ในข้อความบางส่วนของมาตรา 6

...“ส่วนหญิงอันร้ายให้เอาเฉลวประหน้า ทัดดอกชบาแดงทั้งสองหู ร้อยดอกชบาแดงเป็นมาลัยใส่ศีรษะใส่คอ แล้วให้เอาหญิงนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่งชายชู้เทียมแอกข้างหนึ่ง ประจานด้วยไถนา 3 วัน” ...

หรือในข้อความบางส่วนของมาตรา 7

... “หญิงใดทำชู้นอกใจผัว มันเอาชายชู้นั้นมาร่วมประเวณีในวันเดียวสองคนขึ้นไป ท่านว่าเป็นหญิงแพศยา...ให้เอาปูนเขียนหน้าหญิงร้ายนั้นเป็นตาราง ร้อยดอกชบาเป็นมาลัยใส่ศีรษะ ใส่คอ แล้วเอาขึ้นขาหย่างประจาน”...

 

          ชบาดอกสีแดงจะถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์สำหรับการลงโทษ โดยประนามผู้หญิงประเภท “ร้าย” หรือ “แพศยา” จึงทำให้คนไทยในสมัยก่อนไม่ได้นิยมดอกชบาแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากละครเรื่องนางทาสที่เพิ่งจะลาจอไปได้ไม่นาน หากใครเป็นคอละครไทยทางจอแก้วแล้วก็คงไม่พลาดละครแนวพีเรียดเรื่องนี้ ที่ย้อนยุคไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ก่อนที่พระองค์ท่านจะทรงประกาศเลิกทาส) ในตอนหนึ่งละครได้นำเสนอบทลงโทษ นางเย็น หญิงที่ถูกใส่ร้าย และทำให้ผู้คนเข้าใจผิดเห็นว่าคบชู้ ดังนั้นจึงถูกลงโทษ และประนามนางเย็นโดยการนำพวงมาลัยที่ร้อยด้วยชบาดอกสีแดงสวมคอ เพื่อประจานความผิดนั้น

 

          ดอกชบา หรือที่เรียกชื่อสามัญภาษาไทยทั่วไปว่า “ชบา” นั้น ตามความหมายอื่น ๆ อาทิ

          ชบา (เป็นคำนาม) หมายถึง ชื่อไม้พุ่มชนิด Hibiscus rosasinensis L. ในวงศ์ Malvaceae ดอกมีสีต่าง ๆ พันธุ์ที่สีแดงดอก และยอดใช้ทํายาได้
          (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2544)

          ชบา (เป็นคำนาม) หมายถึง ต้นไม้ดอก มีชนิดดอกแดงและดอกขาว ชนิดดอกเล็ก เรียก ชบาหนู
          (พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ. เปลื้อง ณ นคร)

          ชบา (noun) หมายถึง hibiscus, the shoeflower or china rose, genus Hibiscus
          (แปล อังกฤษ ไทย อ. สอ เสถบุตร)

 

          และชื่อท้องถิ่นในภูมิภาคอื่นของประเทศไทยก็จะเรียกชบาต่างกันออกไป ในภาคเหนือจะเรียกว่า “ใหม่” หรือ “ใหม่แดง” ทางภาคใต้เรียกว่า “บา” ส่วนชาวจังหวัดปัตตานีเรียกว่า “ชบาขาว” หรือ “ชุมบา” และดอกชบาก็ยังเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดปัตตานีอีกด้วย จากข้อสังเกตของ ส. พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติ ท่านเห็นว่าชื่อของดอกชบานั้น ดูจะคล้ายหรือใกล้เคียงกับ “ชุมบา หรือ บา” ที่ทางภาคใต้ของไทยเราใช้เรียกชบามากกว่าที่ชาวจีนเรียกชบาเสียอีก ในภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกดอกชบาว่า “ชัดเท่าฮวย” และในภาษาจีนกลางเรียกดอกชบาว่า “เย่วห์จี้ฮวา” ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เหตุผลที่ไทยเรารับเอาความเชื่อ และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับดอกชบามาจากอินเดียดูจะมีน้ำหนักมากขึ้น เนื่องจากคำว่า “ชบา” เป็นคำภาษาสันสกฤต แต่ในอภิธานศัพท์   คำว่า “ชปา” หมายถึง กุหลาบ และคำว่า “ชป” (อ่านว่า ชะ-ปะ) หมายถึง กุหลาบจีน ท่านจึงได้ลงความเห็นว่า คำว่า “ชบา” นั้นต้องเพี้ยนมาจากคำว่า “ชปา” หรือ “ชป” อย่างแน่นอน (ส.พลายน้อย, 2554)

 

          แม้ว่าคนไทยสมัยก่อนจะไม่มีใครใคร่นิยมชมชอบดอกชบามากนัก ด้วยเห็นเหตุนั้นว่าเป็นดอกอันน่ารังเกียจ เป็นดอกอันท่านว่าอัปมงคล ไม่มีคุณค่า แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนแปลงไป ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตดั่งเดิมบางสิ่งบางอย่างก็ค่อยๆ ลดความสำคัญคลายลงไป จนเหลือฝากไว้แต่เรื่องเล่าให้คนรุ่นหลังได้ฟังแต่เพียงเท่านั้น ปัจจุบันดอกชบาได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย อรรถประโยชน์ที่มีอยู่อย่างมากมายของชบานั้น เห็นจะโดดเด่นอย่างเป็นที่สุดก็เพราะเรื่องความสวยสดงดงามของดอกชบาที่มีหลากหลายสายพันธุ์ หลากหลายสีสัน เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ในขณะเดียวกันก็มีความเชื่อที่เป็นสิริมงคลเกี่ยวกับชบา เช่น คนที่เกิดปีกุนเมื่อปลูกบ้านใหม่จะใช้ดอกชบา และใบทองพันชั่งวางก้นหลุมรองเสาเอกของบ้าน เพราะเชื่อว่าจะทำให้เจ้าของบ้านร่ำรวย และชบายังเป็นดอกไม้ประจำสำหรับคนที่เกิดวันอังคารอีกด้วย ด้วยอาจสืบเนื่องมาจากชาวฮินดูใช้ชบาดอกสีแดงเพื่อบูชาองค์พระพิฆเนศวร เทพเจ้าประจำวันอังคารตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูก็เป็นได้

 

          ชบา ไม่ว่าจะถูกเรียกขานนามด้วยภาษาสำเนียงใด ดอกชบาก็ยังคงมีคุณค่าเฉพาะตัวของชบาดังเดิม ดังจะเห็นได้จากผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกมีความนิยมชมชอบดอกชบากันอย่างแพร่หลาย มิใช่แต่เพียงความงามของดอกชบาหลากหลายสีสันเท่านั้น การใช้ประโยชน์จากชบาทั้งที่ใช้เป็นพืชอาหารหรือพืชสมุนไพรใช้รักษาโรคก็มีความคล้ายคลึงกัน สอดคล้อง และเป็นไปในแนวทิศทางเดียวกัน อาจจะมีความแตกต่างกันบ้างตามความเชื่อ และวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่ได้สืบทอดต่อๆ กันมา แต่กาลเวลาไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงคุณค่าที่แท้จริงในความที่ชบาเป็นชบาไปได้เลย เว้นแต่เพียงคุณค่าเทียมที่มวลหมู่มนุษย์หยิบยื่นให้ อันมิอาจจะคงอยู่ได้นาน

 

                                                                                                                                                    “งามดอก ชบา ยิ่งแล้ว     แดงพันธุ์
                                                                                                                                               งามดอก ชบา นั้น    ค่าแท้
                                                                                                                                               งามดอก ชบา พรรณ-    นะนา ท่านเฮย
                                                                                                                                               งามดอก ชบา แพ้    ดั่งข้าควรปอง”

 

Bilakah anda akan dating lagi?

กวีศิลป์ คำวงค์

เอกสารอ้างอิง

ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี (บรรณาธิการ). 2557. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557.
          สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. กรุงเทพมหานคร.

ส.พลายน้อย. 2554. พฤกษนิยาย. สำนักพิมพ์ ยิปซี. กรุงเทพมหานคร.

Engel, David H. & Suchart Phummai. 2007. A Flield Guide to Tropical Plants of Asia. Marshall Cavendish Editions. Singapore.

D. J. Mabberley. 1997. The Plant-Book A portable dictionary of the vascular plants, second edition. The Pitt Building, Trumpington Street,
          Cambridge CB2 1RP, United Kingdom.

T. K. Lim. 2014.  Edible Medicinal and Non Medicinal Plants: Volume 8, Flowers. Springer Science + Business Media Dordrecht.

V.M. Jadhav, R.M. Thorat, V.J. Kadam and N. S. Sathe. 2009. Traditional medicinal uses of Hibiscus rosa-sinensis. Journal of Pharmacy
          Research 2009, 2(8), 1220-1222.

 

เว็ปไซต์อ้างอิง

Godofredo U. Stuart Jr., M.D.. 2015. Gumamela: Hibiscus rosa-sinensis L. Philippine Medicinal Plants. STUARTXCHANGE :
         http://www.stuartxchange.org/Gumamela.html

Naidu Ratnala Thulaja. 2005. Hibiscus in National Library Board Singapore. Singapore infopedia :
         http://eresources.nlb.gov.sg/infopedia/articles/SIP_211_2005-01-09.html

http://baanukulele.com/blog_detail.htm?id=70

https://en.wikipedia.org/wiki/Hibiscus_rosa-sinensis

http://helonational.com/national-flower-of-malaysia

http://malaysiastories.blogspot.com/2009/04/hibiscus-malaysias-national-flower.html

https://medthai.com/ดอกชบา

https://thiwarad.wordpress.com/about/ประวัติดอกชบา/

http://www3.ru.ac.th/RuNews/newsru/viewNewsContent/306

http://www.bahasa-malaysia-simple-fun.com/bunga-raya.html

http://www.doctor.or.th/article/detail/2339

http://www.expatgo.com/my/2016/02/18/hibiscus-story-malaysias-national-flower/

http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/2607/chutney-ชัทนีย์

http://www.himalayahealthcare.com/herbfinder/hibiscus-rosa-sinensis.htm

http://www.mynicegarden.com/2009/06/hibiscus-national-flower-of-malaysia.html

http://www.namesofflowers.net/hawaii-state-flower.html

http://nattuvaidyam.com/en/ingredients/ചെമ്പരത്തി/

http://www.stuartxchange.org/Gumamela.html

http://www.tuninst.net/MP-KS/Malvaceae/Malvaceae.htm

http://www.vichakaset.com/ดอกไม้ของเปอร์โตริโก/

 

รูปภาพอ้างอิง

http://bomets.com/?p=457

http://dniewcollectors.blogspot.com/2011/08/malaysia-coinsparliament-and-bunga-raya.html

http://www.businesstimes.com.sg/government-economy/ringgit-rallies-as-fed-rate-signal-eases-pressure-from-lower-oil

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย