‘กาแฟ’ สร้างป่า..สร้างรายได้

  • 22/05/2023
  • จำนวนผู้ชม 1,087 คน

‘กาแฟ’ สร้างป่า..สร้างรายได้

 

หากพูดถึง “กาแฟ” แน่นอนว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องดื่มที่ทำให้หลายคนลุ่มหลงเมื่อได้สัมผัสกับรสชาติอันกลมกล่อมของกาแฟ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องดื่มที่สามารถเข้ามาเติมเต็มชีวิตให้กับใครหลายๆ คนในทุกๆ วันก็ว่าได้

 

แต่รู้หรือไม่? แค่คุณดื่มกาแฟก็มีส่วนช่วยปลูกป่าแล้วนะ..เพราะการปลูกกาแฟจะต้องปลูกใต้ร่มเงาถึงจะได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ หากปลูกกาแฟ 400-500 ต้น เราก็จะได้ต้นไม้ใหญ่มา 100 ต้นเลย เพราะกาแฟจะให้รสชาติดีและผลผลิตที่ดี เมื่อเติบโตใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่ ดังนั้น การปลูกต้นกาแฟก็ทำให้ช่วยรักษาป่าเอาไว้ได้ด้วยเช่นกัน   

 

ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีของการพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนบนพื้นที่สูงของมูลนิธิโครงการหลวง ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง กาแฟเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มูลนิธิโครงการหลวงได้ส่งเสริมให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูกเพื่อทดแทนพืชเสพติด โดยเฉพาะกาแฟอราบิก้าที่เจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้ดีบนพื้นที่สูง เสริมสร้างการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตรมาปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงาของไม้ป่าท้องถิ่น นอกจากนี้ผลผลิตกาแฟสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานและมีความเสียหายน้อยจากการขนส่ง และที่สำคัญคือสามารถสร้างรายได้ที่ดีให้กับครัวเรือนได้ เป็นต้นแบบของการพัฒนาบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนได้

 

     จากความสำเร็จของการดำเนินงานตามแนวทางโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้น้อมนำผลสำเร็จการพัฒนาของมูลนิธิโครงการหลวงมาขยายผลสำเร็จสู่การพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงอื่นๆ ภายใต้วิสัยทัศน์ “ ชุมชนบนพื้นที่สูงมีความอยู่ดีมีสุข ด้วยการวิจัยและพัฒนา สืบสาน รักษา ต่อยอดงานโครงการหลวง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”  โดยได้นำองค์ความรู้ด้านการปลูกและผลิตกาแฟอะราบิกาคุณภาพไปส่งเสริมให้เกษตรกร มุ่งเน้นวิจัยเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาวิธีการปลูกและการผลิตกาแฟที่มีคุณภาพ ดำเนินการแบบครบวงจรภายใต้กรอบการวิจัยและพัฒนา “ กาแฟอราบิก้าคุณภาพ ภายใต้ระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างรายได้ให้กับชุมชนบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน” โดยตั้งแต่การปลูก การจัดการผลผลิต การแปรรูป และการตลาด ปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวน 2,345 คน พื้นที่ปลูกประมาณ 5,624 ไร่ สร้างรายได้ให้กับชุมชนประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี

 

กาแฟอราบิก้าเป็นพืชเครื่องดื่มที่มีศักยภาพในการนำไปส่งเสริมให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูกเพื่อเป็นรายได้ กาแฟอราบิก้าเจริญเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพในพื้นที่สูงอากาศเย็น มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยว แปรรูปและเก็บรักษาผลผลิตเพื่อรอการจำหน่ายได้ การขนส่งจากพื้นที่ห่างไกลและยากลำบากสามารถทำได้โดยมีความเสียหายของผลผลิตน้อย และที่สำคัญคือกาแฟปลูกร่วมกับป่าไม้ในชุมชนได้ และช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ เป็นการสร้างป่า สร้างรายได้ให้กับชุมชน สวพส. แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลก็ยังขาดทักษะ และองค์ความรู้ในหารปลูกกาแฟที่ดี ดังนั้น สวพส. จึงได้ดำเนินงานส่งเสริมควบคู่ไปกับงานวิจัย มีการนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรที่ปลูกกาแฟในพื้นที่ต่างๆ ช่วยเพิ่มทักษะในการปลูกและแปรรูปให้มากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน สวพส. มีการส่งเสริมการปลูกกาแฟใน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก ลำปาง และน่าน รวม 22 แห่ง พื้นที่ปลูก 5,455 ไร่ และเกษตรกร 2,570 คน ผลผลิตรวมเป็นมูลค่ารายได้ ประมาณ 49.8 ล้านบาท โดยผลผลิตผลกาแฟของเกษตรกร 275 ราย ได้รับมาตรฐานการเพาะปลูกที่ดีหรือ GAP ของโครงการหลวง รวมพื้นที่ 2,567.73 ไร่ และได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตกาแฟอินทรีย์ (Organic) จากเกษตรกร 167 ราย พื้นที่ 332.97 ไร่

 

ปัจจุบันเกษตรกรบนพื้นที่สูงได้หันมาปลูกกาแฟกันมากขึ้น ทำให้พื้นที่ที่เคยทำการเกษตรปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาตลอดระยะเวลาหลายปี ได้พลิกฟื้นกลับมาชุ่มชื้นและเขียวขจีอีกครั้ง นอกจากจะได้ความร่มรื่นกลับคืนมา มีความสุขกับการทำเกษตรภายใต้ร่มเงาของต้นไม้และเกษตรกรบนพื้นที่สูงยังได้สุขภาพที่ดีกลับคืนมาด้วย

 

สำหรับใครที่มาเที่ยวชมอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ และอยากมีส่วนร่วมในการรักษาป่าไปกับเรา ก็สามารถเลือกลิ้มลองกาแฟที่ร้าน HRDI Cafe ได้เพราะเรามีเมล็ดกาแฟจาก 7 ยอดดอย มาให้ได้ลิ้มลองเลือกได้ตามสไตล์ของแต่ละคน ชอบคั่วกลางหรือคั่วเข้มเราก็มีให้เลือก บรรยากาศรอบๆ ร้านอยู่ท่ามกลางไม้ดอกนานาพรรณ และโอบล้อมได้ด้วยกุหลาบหลากหลายสายพันธุ์ ไม่ว่ามุมไหนก็สวย จะนั่งจิบกาแฟชิลๆ ก็ดี นั่งประชุม นั่งทำงานหรือนั่งอ่านหนังสือก็ได้

 

แหล่งข้อมูล : เว็บไซด์สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย