“อ่างขาง” โครงการหลวงแห่งแรก..สู่แหล่งเรียนรู้งานเกษตรที่สูงอย่างยั่งยืน

  • 08/06/2023
  • จำนวนผู้ชม 2,816 คน

“อ่างขาง” โครงการหลวงแห่งแรก..สู่แหล่งเรียนรู้งานเกษตรที่สูงอย่างยั่งยืน

 

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาที่พักอาศัยอยู่ตามดอยต่างๆ ทางภาคเหนือเลิกปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอย อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม้ และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย จากเดิมที่เป็นดอยหัวโล้นจึงแปรสภาพเป็นขุนเขาแห่งความอุดมสมบูรณ์

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 54 ปีก่อน พื้นที่กว่า 2 หมื่นไร่ บริเวณทางทิศเหนือของอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ หุบเขาที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขาสูงทุกด้านติดกับประเทศพม่า ที่นี่เป็นเพียงพื้นที่ปลูกฝิ่น เขาหัวโล้น ชาวเขายากจน แต่ใครจะไปคิดว่าพื้นที่แห่งนี้ เป็นจุดกำเนิดสถานีวิจัยแห่งแรกของมูลนิธิโครงการหลวง ด้วยพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงเมื่อ พ.ศ. 2512 โดยมีพระราชประสงค์ เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา ลดการปลูกฝิ่น และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนดำเนินงาน  ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการหลวงให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวมอย่างยั่งยืนตลอดไป

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง เป็นสถานีที่ดำเนินงานวิจัยหลักของโครงการวิจัยต่างๆ โดยเฉพาะงานวิจัยไม้ผลเขตหนาว งานวิจัยป่าไม้ และงานเกษตรที่สูง โดยดำเนินการศึกษาวิจัย ทดสอบ ทดลอง พันธุ์พืช และสัตว์เขตหนาวบนพื้นที่สูง หลากหลายชนิด อาทิเช่น บ๊วย พีช กีวีฟรุ้ท พลับ สาลี่ สตรอว์เบอร์รี ไม้ดอกเมืองหนาว กุหลาบตัดดอก ผักสลัดนานาชนิด  กะหล่ำปลีหวาน ฯลฯ  นอกจากงานทดลองทางวิชาการที่เน้นพืชที่สร้างรายได้แก่เกษตรกรแล้ว ยังมีงานวิจัยป่าไม้บนพื้นที่สูง งานปลูกป่าบนพื้นที่สูง เพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพพื้นป่าเสื่อมโทรม ที่ถูกบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าในอดีตให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง  โดยตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2525 ได้มีการศึกษาทดลองหาพันธุ์ไม้ยืนต้น มาปลูกในพื้นที่ที่สถานีฯ อ่างขาง หลังจากการปลูกทดลองปรากฏว่ามีต้นไม้ 5 ชนิด สามารถปลูกได้ดีที่อ่างขาง ได้แก่ กระถินดอย เมเปิลหอม จันทร์ทองเทศ การบูร และเพาโลเนีย และไม้เหล่านี้ ไม่เพียงแค่เป็นไม้ที่ปลูกเพื่อสร้างความชุ่มชื่นให้แก่พื้นที่เท่านั้น ยังมีการนำไม้เหล่านี้มาใช้ประโยชน์อีกด้วย อาทิเช่น ผลิตถ่านไม้อัดแท่ง ทำเฟอร์นิเจอร์สำหรับใช้งาน นำท่อนไม้มาเพาะเห็ดหอม เป็นต้น

จากผลสำเร็จของงานวิจัย ทดสอบสาธิต ได้มีการนำส่งเสริมสู่เกษตรกรในพื้นที่ของสถานีฯ อ่างขางรับผิดชอบ ทำให้กลุ่มเกษตรกรบนพื้นที่สูงเหล่านี้ ได้รับการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งในด้านอาชีพเพื่อสร้างรายได้  มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยของคนในชุมชน อีกทั้งเด็กๆ ในชุมชนได้รับโอกาสทางการศึกษา  จึงถือได้ว่า สถานีฯ อ่างขาง ดำเนินงานพัฒนาบนพื้นที่สูงครบทุกมติ ไม่ว่าจะเป็นด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของมูลนิธิโครงการหลวง และชมสวนพันธุ์ไม้โครงการหลวง-สโมสรอ่างขางจำลอง ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์มีนิทรรศการโครงการหลวง “ถอดรหัส จากเขา สู่เรา” ซึ่งเป็นนิทรรศการที่เรียนรู้จุดเริ่มต้นของการช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก ประวัติความเป็นมาของมูลนิธิโครงการหลวง ป๊อปอัพผลิตผลทางการเกษตรที่หลากหลายของโครงการหลวง ทั้งดอกไม้ ผัก  ผลไม้ น่ารักๆ สอดแทรกความรู้ด้านในให้ศึกษา หลักการดำเนินงานบนพื้นที่สูง การต่อยอดงานโครงการหลวง  ชมภาพยนตร์ 4 มิติ ชุด “ความงาม มายา และความยั่งยืน” สภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎรชาวไทยภูเขา และด้านนอกอาคารยังมีการจัดแสดงสวนพันธุ์ไม้โครงการหลวง-สโมสรอ่างขางจำลองอีกด้วย 

 

พิกัดนิทรรศการโครงการหลวง “ถอดรหัส จากเขา สู่เรา” : โซนเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 ติดกับห้องสมุด/ ตรงข้ามกับนิทรรศการ ธ สถิตในดวงใจไทยตราบนิจนิรันดร์

 

แหล่งข้อมูล : มูลนิธิโครงการหลวง

 

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย