เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๗ (Ep. 1/5)

  • 13/03/2017
  • จำนวนผู้ชม 2,662 คน

เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๗
(Ep. 1/5)

มะลิ กล้วยไม้ราตรี Rafflesia และ Titan Arum ดอกไม้ประจำชาติของอินโดนีเซีย

Sambac, Moon Orchid, Rafflesia and Titan Arum, the National Flowers of Indonesia

 
                                                                                                                      “กล้วยไม้ราตรี เด่นเพี้ยง
        อินโด นีเซีย
                                                                                                                                            มะลิ หอมอักโข
        แต่แย้ม
                                                                                                                สง่า Rafflesia โอ้
        งามเด่น
                                                                                                                                           Titan Arum แต้ม
        ถิ่นท้องแดนชวา”   
 

Selamat pagi

 

            สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia) เป็นประเทศในหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีเกาะน้อยใหญ่ประมาณ 17,500 เกาะ แต่มีเพียงประมาณ 3,000 เกาะ ที่มีมนุษย์อยู่อาศัย ประเทศอินโดนีเซียอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน (tropical) ตั้งอยู่ระหว่างคาบสมุทรอินโดจีนกับทวีปออสเตรเลีย และระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ราว 250 ล้านคน ความแตกต่างทางกลุ่มชาติพันธุ์ประมาณ 300 กลุ่มชาติพันธุ์ ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมกว่า 650 วัฒนธรรม และมีภาษาพื้นเมืองราว 742 ภาษาที่แตกต่างกัน ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากที่สุดในทวีปเอเชีย และอยู่ในระดับต้น ๆ ติดอันดับหนึ่งในสามของประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากที่สุดในโลก แม้จะมีผืนแผ่นดินเพียงร้อยละ 1.3 ของผืนแผ่นดินทั่วทั้งโลกก็ตาม แต่กับมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตเป็นจำนวนมาก พรรณไม้โดยทั่วไปที่พบในประเทศอินโดนีเซียเป็นพรรณไม้ในเขตร้อน พืชดอกมีประมาณ 29,375 ชนิด (UNEP-WCMC, 2004) และในปี ค.ศ. 2007 สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศอินโดนีเซีย (The Indonesian Institute of Sciences; LIPI) ได้ศึกษา รวบรวม บันทึก และบรรยายลักษณะของพืชมีท่อลำเลียง จำนวน 31,746 ชนิด (Ministry of Environment, 2009) สำหรับพืชดอกที่พบในประเทศอินโดนีเซียประมาณร้อยละ 10 ของพืชดอกทั่วโลก และในส่วนของสัตว์แบ่งเป็น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมีประมาณร้อยละ 12 สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกประมาณร้อยละ 16 นกและสัตว์ปีกประมาณร้อยละ 17 ของสัตว์ในแต่ละประเภททั่วโลก ประเทศอินโดนีเซียจึงถูกจัดให้เป็นพื้นที่ Biodiversity Hotspot ซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงกว่าจุดอื่น ๆ การกำหนดดังกล่าวก็เพื่อจัดความสำคัญสำหรับการอนุรักษ์ในเชิงพื้นที่ และนอกจากนี้ยังพบสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น (endemic species) อีกหลายชนิด ในพื้นที่แห่งนี้ประมาณการว่ามีพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นจำนวน 12 สกุล และมีจำนวนมากถึง 1,200 ชนิด โดยพบบนเกาะ Sulawesi ประมาณ 500 ชนิด เกาะ Moluccas ประมาณ 300 ชนิด หมู่เกาะ Lesser Sunda ประมาณอย่างน้อย 110 ชนิด และในบริเวณพื้นที่อื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นที่รู้จักกันอย่างน้อยมาก การดำรงชีวิตอยู่จึงมีความเปราะบาง เนื่องจากสิ่งแวดล้อมของถิ่นที่อยู่อย่างจำเพาะเฉพาะชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด เป็นปัจจัยหลักที่มีความสำคัญมากที่สุด และยากที่จะอนุรักษ์ หรือรักษา หรือควบคุมให้คงอยู่ได้ดังเดิมหรือให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยที่สุด เพื่อให้สิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นเหล่านี้สามารถดำรงเผ่าพันธุ์ให้อยู่รอดได้สืบไป ซึ่งปัจจุบันสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นเหล่านี้กำลังถูกคุกคาม ทำให้จำนวนประชากรลดจำนวนลงจนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่หายาก บ้างชนิดได้สูญพันธุ์ไปแล้ว บ้างชนิดสูญพันธุ์จากถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และอีกหลายชนิดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์หรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

 

          Bunga Melati Putih, Anggrek Bulan และ Padma Raksasa Rafflesia เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับการยอมรับและประกาศให้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติในวันสิ่งแวดล้อมโลก วันที่ 5 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1990 จากนั้นรัฐบาลได้ประกาศอย่างเป็นทางการและบังคับใช้กฎหมายผ่าน พระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 4 ปี ค.ศ. 1993 ให้ดอกไม้พื้นถิ่นที่พบในประเทศอินโดนีเซียทั้ง 3 ชนิดนี้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติ และเป็นดั่งตัวแทนของชาวอินโดนีเซีย เช่นเดียวกันกับหนึ่งในสามของสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติอย่าง โอรา (Ora; ชื่อพื้นเมือง) หรือมังกรโคโมโด (Komodo Dragon) สัตว์เฉพาะถิ่นในประเทศอินโดนีเซีย ดอกไม้และสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติเหล่านี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่อย่างมากมายภายในประเทศ และนอกจากนี้เขตการปกครองทั้งหมด 33 เขตของประเทศอินโดนีเซียยังได้กำหนดดอกไม้พื้นเมือง และสัตว์ป่าพื้นถิ่นที่มีความโดดเด่นในท้องถิ่นให้เป็นสัญลักษณ์ประจำของแต่ละเขตการปกครอง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน ระหว่างพรรณไม้ สัตว์ป่าและลักษณะทางภูมิศาสตร์ ตลอดจนผู้คนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ และในโอกาสต่อมาประเทศอินโดนีเซียได้เพิ่มพืชดอกพื้นถิ่นที่มีความสำคัญอีกชนิดหนึ่ง คือ Titan Arum ให้เป็นดอกไม้ประจำชาติในกลุ่มพรรณไม้หายากร่วมกับ Rafflesia นอกจากนี้ประเทศอินโดนีเซียยังให้การยอมรับ ‘Jati’ หรือ “ต้นสัก” (Tectona grandis L.f.) ให้เป็นต้นไม้ประจำชาติอีกด้วย

 

          ตามพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 4 ปี ค.ศ. 1993 (Keputusan Presiden No. 4 Tahun 1993) ลงนามโดยประธานาธิบดี Suharto (ค.ศ. 1921-2008) ประธานาธิบดีในลำดับที่ 2 แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ดำรงตำแหน่งในระหว่างปี ค.ศ. 1967 - ค.ศ. 1998 และประกาศให้ไว้ ณ วันที่ 9 มกราคม ปี ค.ศ. 1993 กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ว่าด้วยเรื่องสัตว์ป่าและดอกไม้ประจำชาติ (Satwa Dan Bunga Nasional) ในความตอนหนึ่งว่า

...

ประการแรก : ประกาศให้สัตว์ 3 ชนิดเป็นสัตว์ป่าแห่งชาติในแต่ละประเภทดังนี้

          1. มังกรโคโมโด; Komodo (Varanus komodoensis; sebagai satwa nasional) ในสถานะเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นและสัตว์ป่าแห่งชาติ

          2. Siluk Merah; Ikan Siluk Merah (Sclerophages formosus; sebagai satwa pesona) ในสถานะเป็นสัตว์น้ำที่ทรงเสน่ห์ และ

          3. Java Eagle; Javan Hawk-Eagle (Spizaetus bartelsi; sebagai satwa langka) ในสถานะเป็นสัตว์ปีกเฉพาะถิ่นและเป็นสัตว์ที่หายาก

ประการที่สอง : ประกาศให้ดอกไม้ 3 ชนิดเป็นดอกไม้แห่งชาติแต่ละประเภทดังนี้

          1. มะลิ; Melati (Jasminum sambac; sebagai puspa bangsa) ในสถานะเป็นดอกไม้แห่งชาติ

          2. กล้วยไม้ราตรี; Anggrek Bulan (Palaenopsis amabilis; sebagai puspa pesona) ในสถานะเป็นดอกไม้ที่ทรงเสน่ห์ และ

          3. Rafflesia; Padma Raksasa (Rafflesia arnoldii; sebagai puspa langka) ในสถานะเป็นพรรณไม้เฉพาะถิ่นและเป็นพรรณไม้ที่หายาก

          …

(อ้างอิง : Presidential Decree No. 4 in 1993; https://aadrean.files.wordpress.com/2010/09/keppres-004-thn-1993-tentang-satwa-dan-bunga-nasional.pdf)

 

สงสัยครานี้เรื่องจะยาวละครับ เนื่องจากอินโดนีเซียมีดอกไม้ประจำชาติถึง 4 ชนิดด้วยกันครับ รอติดตามนะครับ ว่าพันธุ์ไม้แต่ละชนิดนั้น
จะมีความหมายและความสำคัญเช่นไร ใน Ep. 2/5 ขอรับ

กวีศิลป์ คำวงค์

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย