กัญชง (Hemp) พืชเศรษฐกิจในพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

  • 03/08/2023
  • จำนวนผู้ชม 449 คน

กัญชงหรือเฮมพ์ (Hemp) พืชเศรษฐกิจ ในพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โครงการหลวงศึกษาการเพาะปลูกเฮมพ์ โดยร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เพื่อส่งเสริมเป็นอาชีพและสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์หัตถกรรม รวมทั้งสามารถต่อยอดเป็นอาหารสุขภาพซุปเปอร์ฟู้ดที่นำผลการวิจัยไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชงสกัดเย็น และผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม อาทิ ครีมทามือ ครีมกันแดด ฯลฯ

 

เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสนพระทัยผลิตภัณฑ์จากเฮมพ์หรือกัญชง (Cannabis sativa) และได้มีพระราชเสาวนีย์ให้มีการศึกษาการเพาะปลูกเฮมพ์อย่างจริงจังในประเทศไทยเพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้จากการผลิตหัตถกรรมต่อเนื่อง และเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ฯ มูลนิธิโครงการหลวงและ สวพส. ได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาการเพาะปลูกและแปรรูปผลิตภัณฑ์เฮมพ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา-ปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายหลัก “เกษตรกรบนพื้นที่สูงสามารถปลูก แปรรูป และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเฮมพ์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย” เพราะเฮมพ์ยังจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ณ วันนั้น ตามกฎหมายแล้ว เสื้อผ้า กระเป๋า ที่เป็นใยกัญชงก็จัดเป็นยาเสพติด ผิดกฎหมายไปหมด

 

งานในช่วงแรก (พ.ศ. 2548-2560) ได้ขออนุญาตศึกษาวิจัย ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 (ให้อนุญาตเฉพาะเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น) ระหว่างทำงานได้รายงานผลต่อผู้ให้อนุญาต (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา; อย.) อย่างสม่ำเสมอ และได้นำผลการศึกษาวิจัยไปใช้เป็นข้อมูลในการผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย ต่อมา ปี พ.ศ. 2556 กระทรวงสาธารณสุขจึงประกาศยกเว้นส่วนของ เปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้งและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง ออกจากการเป็นยาเสพติด แต่กฎหมายระบุไว้ชัดที่ให้อนุญาตปลูกเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น จึงยังคงเป็นปัญหาว่าจะได้เปลือกแห้ง แกนแห้งมาได้อย่างไร ชาวบ้านก็ขอทำวิจัยไม่ได้

“กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะเฮมพ์ พ.ศ. 2559” เป็นกฎกระทรวงสาธารณสุขที่มีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2561 และระยะ 3 ปีแรก (พ.ศ. 2561-2563) ให้เฉพาะหน่วยงานรัฐเป็นผู้ขออนุญาต กำหนดปริมาณสารเสพติด THC (tetrahydrocannabinol) ไว้ไม่เกิน 1.0 % ต้องขออนุญาตตามวัตถุประสงค์ 6 ข้อนี้เท่านั้น
1. เพื่อปลูก เก็บเกี่ยว หรือแปรสภาพเฮมพ์ สําหรับใช้ประโยชน์ในครัวเรือน

2. เพื่อปลูก เก็บเกี่ยว หรือแปรสภาพเฮมพ์ สําหรับใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมในเชิงพาณิชย์

3. เพื่อปลูก เก็บเกี่ยว หรือแปรสภาพเฮมพ์ สําหรับการศึกษาวิจัย

4. เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์รับรองสําหรับจําหน่าย หรือแจกสําหรับการส่งเสริมตามวัตถุประสงค์ (1) (2) หรือ (3)

5. เพื่อจําหน่ายเมล็ดพันธุ์รับรอง ลําต้นสด หรือส่วนอื่น ๆ ตามที่ได้รับอนุญาต สําหรับใช้ประโยชน์ตาม (1) (2) (3) หรือประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด แล้วแต่กรณี

6. เพื่อครอบครองสําหรับใช้ประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด การดําเนินการตามวัตถุประสงค์ใน (1) และ (2) ห้ามมิให้มีการผลิตเมล็ดพันธุ์สําหรับการเพาะปลูก

 

ประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากเฮมพ์เฉพาะด้านสิ่งทอเท่านั้น โดยชาวเขาชนเผ่าม้งจะปลูกและแปรรูปเฮมพ์ตามภูมิปัญญาตามวิถีของชนเผ่าม้ง ส่วนมากใช้ประโยชน์จากเปลือกลำต้นที่มีเส้นใยคุณภาพดี จึงนำมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่มและใช้สอยในครัวเรือน เช่นชุดประจำชนเผ่า เส้นด้ายสายสิญจน์ สำหรับผูกข้อมือหรือประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทำเป็นเชือกหน้าไม้ หรือเชือกใช้สอยทั่วไป

ปัจจุบันทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากเฮมพ์ได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีการประกาศแก้ไขกฎหมายออกมาตามลำดับ อย่างไรก็ตามการผลิตหรือปลูกยังคงต้องขออนุญาตต่อกระทรวงสาธารณสุขก่อนการปลูกหรือผลิต ซึ่งจะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด เข้าไปสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อการพิจารณาอนุญาตเป็นรายๆ ไป และใช้เวลาในดำเนินการประมาณ 5-6 เดือน ดังนั้นผู้ที่สนใจควรศึกษาข้อมูลและดำเนินการขออนุญาตล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี

 

แหล่งข้อมูล : https://www.hrdi.or.th/SignificantPlant/Hemp

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย