เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๗ (Ep. 2/5)

  • 13/03/2017
  • จำนวนผู้ชม 3,782 คน

เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๗
(Ep. 2/5)

มะลิ กล้วยไม้ราตรี Rafflesia และ Titan Arum ดอกไม้ประจำชาติของอินโดนีเซีย

Sambac, Moon Orchid, Rafflesia and Titan Arum, the National Flowers of Indonesia

 

จากเรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๗ (Ep. 1/5) นั้น เรารู้ข้อมูลเบื้องต้นแล้วว่า อินโดนีเซียมีดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติคือ มะลิ กล้วยไม้ราตรี Rafflesia และ Titan Arum สำหรับในบทความตอนนี้ขอเริ่มต้นด้วยการแนะนำดอกไม้ประจำชาติของอินโดนีเซียชนิดแรกครับ  ดอกมะลิ ดอกไม้ที่เรา ๆ ท่าน ๆ รู้จักกันเป็นอย่างดี

 

          Bunga Melati Putih หรือ Melati หรือดอกมะลิ เป็นดอกไม้พื้นถิ่นของประเทศอินโดนีเซียที่ได้รับการยอมรับให้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติ (Indonesian : Puspa bangsa) ถ้าแปลความหมายตามคำที่ใช้เรียกชื่อในภาษาพื้นเมืองจะหมายถึง ดอกมะลิสีขาว คำว่า ‘Bunga’ หมายถึงดอกไม้ คำว่า ‘Melati’ หมายถึงดอกมะลิ และคำว่า ‘Putih’ หมายถึงสีขาว นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกดอกมะลิในภาษาพื้นเมืองที่ใช้ในประเทศอินโดนีเซียอีกอย่างหลากหลายชื่อ อาทิ Menuh (Bali), Meulu Cina, Meulu Cut (Aceh), Malete (Madura), Menyuru (Banda), Melur (Gayo, Batak Karo), Manduru (Menado) และ Mundu (Bima, Sumbawa) หรือชื่อสามัญภาษาอังกฤษ Arabian Jasmine, Asian Jasmine, Jessamine, Sacred Jasmine, Sambac Jasmine และ Sampaguita

          ในประเทศฟิลิปปินส์ มะลิใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ‘Jasminum sambac (L.) Aiton’ มะลิเป็นพืชดอกที่จัดจำแนกอยู่ในสกุล Jasminum และในวงศ์ OLEACEAE โดยชื่อสกุล Jasminum นั้นได้มาจากคำว่า ‘Yasameen’ ในภาษาเปอร์เซีย หมายความว่า “ของขวัญจากพระเจ้า” โดยคำดังกล่าวผ่านมาทางภาษาอาหรับและภาษาละติน ส่วนคำที่ใช้สำหรับระบุชื่อมะลิชนิด Sambac ได้รับเข้ามาในสมัยยุคกลาง จากคำว่า ‘zambaq’ ซึ่งเป็นภาษาอาหรับ (Arabic) คำดังกล่าวมีอยู่ด้วยกัน 2 ความหมาย ความหมายแรกหมายถึงดอกมะลิ (Jasmine) และความหมายที่สองหมายถึงน้ำมันหอมที่สกัดได้จากดอกมะลิชนิดต่าง ๆ ส่วนคำในภาษาละติน คำว่า ‘sambacus’ และ ‘zambacca’ ซึ่งก็ได้รับอิทธิพลมาจากคำดังกล่าวเช่นกัน ในช่วงตอนปลายสมัยยุคกลางของละติน และมีความหมายเช่นเดียวกันกับรากศัพท์ในภาษาอาหรับ ในเวลาต่อมาช่วงหลังสมัยยุคกลางของละติน คำดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้สำหรับระบุชื่อชนิดของมะลิ Jasminum sambac (L.) Aiton เพื่อใช้สำหรับการจัดจำแนกพรรณไม้หรืองานทางด้านพฤกษอนุกรมวิธาน นอกจากนี้ชื่อ  ‘Sampaguita’ หรือมะลิลา (J. sambac (L.) Aiton) ยังเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศฟิลิปปินส์อีกด้วย

          ความสำคัญของดอกมะลิในวัฒนธรรมของอินโดนีเซียนั้น ได้ถือกำเนิดขึ้นก่อนที่ดอกมะลิจะได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการเสียอีก ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสาธารณรัฐอินโดนีเซียในสมัยประธานาธิบดี Sukarno (ค.ศ. 1901-1970) ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ดำรงตำแหน่งในระหว่างปี ค.ศ. 1945 - ค.ศ. 1967 ดอกมะลิได้รับการยอมรับอย่างไม่เป็นทางการอยู่เนือง ๆ ว่าเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศอินโดนีเซีย ความเคารพนับถือในดอกมะลิ ซึ่งอยู่ในสถานะที่สูงค่ากว่าดอกไม้ชนิดอื่นใด ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเนื่องจากดอกมะลิมีความสำคัญในวัฒนธรรมประเพณีพื้นเมืองของชาวอินโดนีเซียที่มีมาตั้งแต่ดั่งเดิม นับได้ว่าดอกมะลินั้นมีความผูกพันกับชาวอินโดนีเซียเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา อย่างในพิธี Mitoni หรือพิธี 7 เดือน (Tujuh Bulanan) และจนกระทั้งวาระท้ายสุดแห่งชีวิต ความมีอยู่ของดอกมะลิได้รับการบรรยายไว้อย่างครอบคลุมในตอนที่เรียกว่า ‘Siwaratrikalpa’ ซึ่งเป็นวรรณกรรมของชาวชวาในสมัยก่อน เรียบเรียงขึ้นเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 เมื่อ Adi Suprabawa ปกครองราชอาณาจักร Majapahit ชวาตะวันออก ในวรรณกรรมดังกล่าวดอกชนิดนี้ถูกเรียกว่า ‘memur’ นอกจากนี้ยังได้ระบุว่ามะลิมีอยู่ในอินโดนีเซียตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15

          ดอกมะลิ เป็นดอกไม้ดอกเล็ก ๆ ที่มีความสวยงาม ดอกสีขาวบริสุทธิ์ มีกลิ่นที่หอมหวาน เป็นดอกไม้ที่ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นดอกไม้ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมประเพณีพื้นเมืองของชาวอินโดนีเซียอย่างแพร่หลายมาอย่างช้านาน ถือเป็นดอกไม้แห่งการดำรงอยู่ของชีวิต ขณะที่ดอกมะลิยังใช้เป็นสัญลักษณ์ของขุนนาง เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความศักดิ์สิทธิ์ ความเรียบง่าย ความสง่างาม ความจริงใจ และความรักอันเป็นนิรันดร์ ในพิธี Mitoni หรือพิธี 7 เดือน คือประเพณีของชาวชวาที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาฮินดู ซึ่งเกี่ยวข้องกับว่าที่คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ได้ 7 เดือน ดอกมะลิจะถูกนำมาถักร้อยเป็นตาข่ายเพื่อใช้คลุมไหลของว่าที่คุณแม่แทนผ้าคลุมไหล หรือร้อยเป็นเส้นสาย ร้อยเป็นมาลัยใช้เช่นดังเครื่องประดับในพิธีการสรงน้ำ (Siraman) ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของพิธี Mitoni น้ำสะอาดที่ใช้สำหรับสรงน้ำจะลอยด้วยดอกมะลิ (Melati) ดอกกุหลาบหรือ Bunga Mawar (Rosa spp.) และดอกกระดังงาหรือ Kenanga (Cananga odorata (Lam.) Hook.f. & Thomson) หลังจากการสรงน้ำแต่ละครั้งจะผลัดเปลี่ยนผ้านุ่งที่ตัดเย็บจากผ้าบาติกที่มีลวดลายที่มีความต่างกัน จำนวน 7 ผืน และลวดลายของผ้าแต่ละผืนก็จะแสดงถึงความหมายที่เป็นมงคล ความสำคัญของพิธีดังกล่าวเพื่อให้ว่าที่คุณแม่สามารถให้กำเนิดทารกได้อย่างปลอดภัย ราบรื่นและง่ายดายเหมือนกับการผลัดเปลี่ยนผ้านุ่งทุกครั้งหลังจากการสรงน้ำถึง 7 ครั้ง

(Mitoni : website : https://core.ac.uk/download/files/379/11736698.pdf)

         

          ดอกมะลิ ยังเป็นดอกไม้ที่มีความสำคัญที่สุดในพิธีแต่งงานสำหรับผู้คนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย เป็นดอกไม้แห่งการเฉลิมฉลองในพิธีมงคลสมรส สำหรับในวันที่จัดงาน การจัดแต่งทรงผมให้กับเจ้าสาวในแบบดั้งเดิมของชาวชวา (Javanese) หรือชาวซุนดา (Sundanese) นิยมตกแต่งประดับประดาด้วยเส้นสายที่ร้อยจากดอกมะลิ จัดให้เป็นตาข่ายคลุมเกล้ามวยผม มาลัยดอกมะลิที่เรียงร้อยอย่างประณีตถูกแขวนให้ทิ้งชายลงอย่างหลวม ๆ จากศีรษะของเจ้าสาว ส่วนชาวพื้นเมืองบนเกาะชวา นิยมเลือกเก็บดอกมะลิตูมมาร้อยเป็นพวงมาลัยหรือที่เรียกว่า ‘Roncen Melati’ เจ้าสาวชาวมากัสซาร์ (Makassar) และชาวบูกิส (Bugis) นิยมประดับประดาผมด้วยดอกมะลิตูม ที่มีลักษณะคล้ายดังไข่มุก เสื้อผ้าชุดเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมในสุมาตราตอนใต้ จะเป็นลวดลายของดอกมะลิบนผืนผ้าทอ (songket : ผ้าทออย่างประณีตที่มีลวดลายปักยกดอกโดยใช้สีทองและสีเงินเป็นหลัก) ของเมืองปาเล็มบัง (Palembang) เพื่อใช้สำหรับเป็นตัวแทนของความสวยงามและความเป็นผู้หญิง ในส่วนของเจ้าบ่าวเสื้อผ้าชุดแต่งงานจะได้รับการตัดเย็บจากผ้าบาติกอย่างประณีตและสวยงาม จะสวมหมวกเปรียบเสมือนดั่งได้สวมมงกุฎ และกริช (Keris) อาวุธสำคัญคู่กายชายชาวอินโดนีเซียมาอย่างช้านาน กริชนิยมประดับประดาปลอกสวมด้วยอัญมณีอย่างสวยงาม และแขวนพวงมาลัยที่ร้อยด้วยดอกมะลิ 5 พวง ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับตำนานความกล้าหาญของ Arya Penangsang (มีชีวิตอยู่ในช่วงกลางของศตวรรษที่ 16) ซึ่งเป็นเจ้าชายแห่งเมือง Jipang Panolan ที่ได้สู้รบปกป้องบ้านเมืองของตนจนตัวตาย กริชอาวุธที่ใช้สำหรับการต่อสู้จึงเป็นดั่งสัญลักษณ์ของความเป็นลูกผู้ชาย ความกล้าหาญ และความแข็งแกร่ง ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีดังกล่าวยังคงสืบทอดและใช้กันอย่างแพร่หลายมาจวบจนถึงปัจจุบัน

          ดอกมะลิ ในความเชื่อมักเกี่ยวข้องในเรื่องของจิตวิญญาณและความตาย ดอกมะลิใช้เป็นดอกไม้สำหรับเป็นของถวายบูชาเพื่อแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาเกี่ยวกับเทพพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบาหลีที่นับถือศาสนาฮินดู เป็นดอกไม้ที่ดีงามสำหรับใช้นมัสการพระศิวะในคืนเดือน 7 หรือเดือนของ Magha ในค่ำคืนอันศักดิ์สิทธิ์นี้เพื่อนมัสการพระศิวะ เพื่อชำระล้างบาปให้ทุก ๆ คน ซึ่งเดือน Magha นั้นจะมีเพียงปีละครั้งหรือทุก 420 วัน ตามปฏิทินของชาวบาหลี การนมัสการพระศิวะนั้นต้องถวายดอกมะลิ โดยเชื่อว่าดอกไม้ชนิดนี้เป็นดอกไม้ที่เหมาะที่จะใช้เพื่อเป็นสื่อกลางสำหรับการสวดมนต์บูชาพระศิวะ จะนำมาซึ่งการอโหสิกรรม การให้ศีลให้พร และในท้ายที่สุดของชีวิตพวกเขาก็จะสามารถเชื่อมโยงกับพระศิวะในสรวงสวรรค์ และชาวบ้านส่วนใหญ่ในบาหลีจะปลูกต้นมะลิตามวัดที่สำคัญ ตามสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์หรือวัดของครอบครัว ดอกมะลิยังใช้สำหรับพิธีที่ยิ่งใหญ่อย่าง พิธี Tawur Agung หรือพิธีการให้ศีลให้พรทั้งโลก และนอกจากนี้ดอกมะลิมักจะปรากฏอยู่ในงานพิธีศพ ซึ่งทำให้บรรยากาศภายในงานยิ่งดูลึกลับ และทำให้เป็นสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์อันมิอาจจะก้าวล่วงได้

          ดอกมะลิ ความหมายที่สื่อในเนื้อเพลงที่เกี่ยวกับความรักชาติ และบทกวีของชาวอินโดนีเซีย การร่วงหล่นของดอกมะลิมักถูกเปรียบเสมือนดั่งตัวแทนของการสูญเสียวีรบุรุษ ผู้ซึ่งเสียสละทั้งชีวิตเพื่อประเทศชาติ แนวความคิดดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกันอย่างมากในวัฒนธรรมประเพณีพื้นเมืองของชาวญี่ปุ่น ที่เปรียบการร่วงหล่นของดอกซากุระ (Sakura : Cherry Blossoms; Prunus serrulata Lindl.) นั้นว่าหมายถึงการสูญเสียซึ่งวีรบุรุษ และสิ่งที่น่าสนใจคือ ดอกซากุระก็อยู่ในฐานะดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศญี่ปุ่นเฉกเช่นเดียวกันกับดอกมะลิ บทเพลงรักชาติของ Ismail Marzuki (ค.ศ. 1914-1958) นักคีตกวี นักแต่งเพลง และนักดนตรีชาวอินโดนีเซีย ที่มีผลงานเพลงที่เขาเขียนขึ้นมามากกว่า 200 เพลง อาทิบทเพลง Melati di Tapal Batas (Jasmine on the Border) ในปี ค.ศ. 1947 และเพลง Guruh Sukarnoputra's ‘Melati Suci’ (Sacred Jasmine) ในปี ค.ศ. 1974 แสดงให้เห็นชัดถึงการกล่าวถึงดอกมะลิว่าเป็นตัวแทนแห่งการสูญเสียของเหล่าวีรชน กลิ่นของดอกมะลิที่มีความหอมหวนอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั้นเปรียบประดับดินแดนแห่งมาตุภูมิ ส่วนบทเพลงของ Iwan Abdurachman (ค.ศ. 1947-ปัจจุบัน) เป็นนักดนตรีและนักแต่งเพลงชาวอินโดนีเซีย อย่างเช่น บทเพลง ‘Melati dari Jayagiri’ (Jasmine From Jayagiri Mountain) ที่กล่าวถึงดอกมะลิ ดอกไม้ที่เป็นดั่งตัวแทนแห่งความงามที่สวยงามอย่างบริสุทธิ์ของสาวแรกรุ่น และยังหมายถึงความรักที่ห่างหายไปนาน

 

ดอกมะลิ อรรถประโยชน์ที่หลากหลาย

        ชาวอินโดนีเซียนิยมใช้ดอกมะลิสำหรับการประดับตกแต่งสถานที่ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ และดอกมะลินอกจากจะปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ หรือปลูกเป็นแนวรั้ว แนวเขตพื้นที่ของบ้านแล้ว อินโดนีเซียยังเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ปลูกดอกมะลิเพื่อการส่งออก ซึ่งราคาของดอกมะลิจะถูกกว่าดอกมะลิของไทยแต่คุณภาพต่ำกว่า เมื่อนำมาร้อยเป็นพวงมาลัยแล้ว สีจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำลง ไม่ทน มีอายุการใช้งานประมาณ 1-2 วัน แต่การนำเข้ามะลิจากอินโดนีเซีย ก็มีข้อดีในช่วงที่ไทยขาดแคลนดอกมะลิ ทำให้ช่วยควบคุมราคาดอกมะลิของไทยไม่ให้สูงมากเกินไป (ชัญญา ทิพานุกะ) และยังนิยมนำดอกมะลิมาใช้สำหรับการจัดตกแต่งสถานที่ในงานพิธีการต่าง ๆ อาจนำมาเรียงร้อยเป็นมาลัยแบบสายยาวอย่างงดงามเพื่อใช้แทนแถบริบบิ้นสำหรับการตัดเพื่อเปิดงานหรือเริ่มพิธีการสำคัญต่าง ๆ ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอม อาทิ น้ำหอม เครื่องสำอาง น้ำมันที่สกัดจากดอกมะลิ น้ำมันหอมระเหย ธุรกิจการทำสปาและการนวดเพื่อความผ่อนคลาย เป็นวัตถุดิบสำหรับผสมหรือทำเป็นเครื่องดื่ม เช่น ชาดอกมะลิ ชากลิ่นหอมหวานที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศอินโดนีเซีย

          ดอกมะลิจะทำให้ผิวขาวเป็นชมพูระเรื่อตามธรรมชาติ สามารถทำลายสารพิษใต้ผิวหนัง กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต และช่วยสำหรับการเผาผลาญสารอาหารในร่างกาย สถานเสริมความงามและการทำธุรกิจสปาจึงนิยมใช้ดอกมะลิและผลิตภัณฑ์จากดอกมะลิกันอย่างแพร่หลาย นอกจากประโยชน์สำหรับการรักษาความงามของผิวพรรณแล้ว กลิ่นหอมของดอกมะลิยังช่วยทำให้ผู้ที่เข้ารับบริการสปาและการนวดทำให้รู้สึกสบายและผ่อนคลาย ดอกมะลิจึงใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์สครับที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของผิวพรรณ ทำให้ผิวพรรณมีความกระจ่างใส กระชับได้สัดส่วน และช่วยขจัดเซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้ว โดยใช้ดอกมะลิประมาณ 1 กำมือ น้ำหรืออาจเพิ่มน้ำมันมะกอกผสมคลุกเคล้าและโขลกให้ละเอียด ใช้สำหรับขัดถูผิวพรรณอย่างสม่ำเสมอครั้งละประมาณ 15-20 นาที จากนั้นจึงล้างออก เพื่อทำความสะอาดร่างกายและผิวพรรณให้สวยงาม สามารถทำได้อย่างน้อย สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง

 

ดอกมะลิ มีสรรพคุณช่วยทำให้เส้นผมมีความแข็งแรง เพื่อหยุดการหลุดร่วงของเส้นผมหรือป้องกันศีรษะล้าน โดยมีส่วนประกอบดังนี้

          - ดอกมะลิ                                                                                          จำนวน 14 ดอก
          - ดอกกุหลาบ                                                                                      จำนวน 2 ดอก
          - เล็บครุฑหรือ Mangkokan (Polyscias scutellaria (Burm.f.) Fosberg)    จำนวน 6 ใบ
          - ใบเตยหอมหรือ Daun Pandan (Pandanus amaryllifolius Roxb.)          จำนวน 2 ใบ
          - กะเม็งหรือ Urang-Aring (Eclipta prostrata (L.) L.)                              จำนวน 6 ใบ
          - น้ำมันมะพร้าวหรือ Minyak Kelapa (Cocos nucifera L.)                         ปริมาตร 1 ถ้วยตวง
          - น้ำมันงาหรือ Minyak Wijen (Sesamum indicum L.)                            ปริมาตร 50 มิลลิลิตร
          - วอลนัตหรือ Kacang Kenari (Juglans regia L.)                                    จำนวน 10 กรัม
          - น้ำ                                                                                                   ปริมาตร 4 ลิตร

วิธีทำ

          - ผสมน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันงาเข้าด้วยกัน จากนั้นนำไปตั้งไฟอ่อน ๆ เพื่อให้ผ่านความร้อน
          - นำดอกมะลิ ดอกกุหลาบ ใบเล็บครุฑ ใบเตยหอม ใบกะเม็ง และวอลนัต สับให้ละเอียด ผสมวัตถุดิบทั้งหมด รวมทั้งน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันงาที่ผ่านการเคี่ยวแล้ว นำไปต้มในน้ำโดยใช้ความร้อนต่ำเป็นระยะเวลาประมาณ 20 นาที
          - กรองเอากากของส่วนประกอบทั้งหมดออก และตั้งทิ้งไว้เพื่อให้ระบายความร้อน พอเย็นตัวลงจึงเก็บใส่ภาชนะที่ปิดอย่างมิดชิด

วิธีใช้

         - ใช้นวดคลึงบริเวณหนังศีรษะโดยทั่ว ทำเช่นนี้วันละสองครั้งก่อนที่จะอาบน้ำ

 

นอกจากนี้ผู้หญิงในเกาะบอร์เนียวมักจะนำดอกมะลิที่บานแล้วมาม้วนเกล้าเข้ากับมวยผมเก็บไว้ ทิ้งในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งจะช่วยทำให้ผมของพวกเธอมีกลิ่นที่หอมและนุ่มสลวยเป็นเงางามดั่งได้ชโลมน้ำมัน

 

ดอกมะลินิยมนำมาทำเป็นชาสำหรับชงดื่มให้รสชาติที่อร่อยและหอมหวาน ประโยชน์ที่ได้จากการดื่มชาดอกมะลิเป็นประจำทุกวัน วันละ 1 ถ้วยนั้น จะช่วยทำให้ผิวพรรณแลดูอ่อนกว่าวัย เนื่องจากชาดอกมะลิมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง สามารถช่วยชะลอความเสื่อมสภาพ และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผิวพรรณ นอกจากนี้การการดื่มชาดอกมะลิเป็นประจำยังได้ประโยชน์อื่น ๆ อีก อาทิ

          - เพื่อช่วยป้องกันโรคมะเร็ง
          - เพื่อลดปริมาณไขมันในเลือด
          - เพื่อลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ
          - เพื่อสุขภาพของเหงือกและฟัน
          - เพื่อป้องกันรังสีคอมพิวเตอร์

ดังนั้นถ้าต้องการที่จะแลดูอ่อนกว่าวัยอยู่เสมอ และมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง นอกจากการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแล้ว การดื่มชาจากดอกมะลิเป็นประจำก็มีความสำคัญเช่นกัน (Free Soul, 2016)

 

ดอกมะลิเพื่อสุขภาพและการแพทย์พื้นเมืองดั้งเดิม มีผู้คนเพียงส่วนน้อยที่จะทราบว่าดอกไม้ที่สวยงามและมีกลิ่นหอมอย่างดอกมะลิสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรเพื่อประโยชน์ในด้านสุขภาพและการรักษาโรคบางชนิดได้ สำหรับการแพทย์พื้นเมืองดั้งเดิมที่ได้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เพื่อสืบต่อตกทอดไปรุ่นลูกสู่หลาน โดยประโยชน์ของดอกมะลิที่ใช้สำหรับเป็นยาสมุนไพรพื้นเมืองมีสรรพคุณและวิธีการรักษาดังนี้

โรคไข้เลือดออก

          - ใช้ใบมะลิ จำนวน 7 ใบ ผสมเนื้อผลมะเฟืองหรือ Belimbing (Averrhoa carambola L.) ปริมาณ 25 กรัม ต้มในน้ำปริมาตร 250 มิลลิลิตร จะได้น้ำยาปริมาณ 1 แก้ว เพื่อให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออกดื่มวันละ 8 แก้ว นานติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 วัน

อาการหายใจหอบ

          - ใช้ใบมะลิ จำนวน 20 ใบ ต้มในน้ำปริมาตร 3 ถ้วย ผสมเกลือเล็กน้อย เคี่ยวจนน้ำงวดลงเหลือประมาณ 2 ถ้วย จากนนั้นตั้งทิ้งไว้ให้เย็น และนำไปกรอง ใช้ดื่มวันละสองครั้งทุกเช้าและบ่าย

อาการไข้และอาการปวดศีรษะ

          - ใช้ใบมะลิประมาณ 1 กำมือ และดอกมะลิตูม จำนวน 10 ดอก โขลกให้ละเอียดแล้วนำไปแช่น้ำ ใช้ผ้าชุบน้ำบิดพอหมาด ๆ ประคบบริเวณหน้าผากช่วยลดอาการไข้ และสามารถใช้สำหรับรักษาอาการปวดหัวที่ไม่รุนแรงมากนักได้

อาการปวดบวมจากผึ้งหรือแมลงอื่น ๆ กัดต่อย

          - ใช้ใบมะลิหรือดอกมะลิประมาณ 1 กำมือ โขลกให้ละเอียด (หรืออาจจะใช้ทั้งใบและดอกมะลิร่วมกันก็ได้โดยโขลกให้ละเอียดและผสมให้เข้ากัน) นวดคลึงบริเวณที่ปวดบวม และใช้พอกประคบบริเวณแผลที่ถูกกัดหรือต่อย

อาการเจ็บตา

          - ใช้ใบมะลิประมาณ 1 กำมือ โขลกให้ละเอียด พอกประคบไว้บริเวณหน้าผาก เมื่อแห้งแล้วจึงเปลี่ยนใหม่ ใช้สำหรับรักษาอาการเจ็บปวดที่เกิดจากโรคตาแดงหรืออาการระคายเคืองตา (Belekan)

น้ำนมไหลออกมามากผิดปกติ

          - ใช้ดอกมะลิประมาณ 1 กำมือ โขลกให้ละเอียด พอกประคบหรือเช็ดบริเวณเต้านมและรอบหน้าอก โดยทำเป็นประจำทุกเช้าก่อนที่จะอาบน้ำ เพื่อให้น้ำนมหยุดไหล

(MAS HIDAY, 2014)

 

       ดอกมะลิในสถานะที่เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศอินโดนีเซีย จึงได้นำมาใช้สำหรับการผลิตสื่อเพื่อแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของความเป็นประเทศอินโดนีเซีย ผ่านรูปสัญลักษณ์จากดอกมะลิ อาทิ เงินเหรียญในสกุลเงินรูเปียห์ ซึ่งเป็นหน่วยเงินของประเทศอินโดนีเซีย (รหัสหน่วยเงิน: IDR) ในราคา 500 รูเปียห์ (Coins 500 RUPIAH ค.ศ. 1997-2003 และ ค.ศ. 2003-2008) โดยด้านหลังเหรียญเป็นรูปภาพนูนต่ำของดอกมะลิ พร้อมด้วยระบุชื่อว่า ‘BUNGA MELATI’ นอกจากนี้ยังปรากฏในรูปแบบของดวงตราไปรษณียากรหรือแสตมป์ บัตรโทรศัพท์ และสื่อสิ่งพิมพ์อื่น ๆ เป็นต้น

 
                                                                                                                                “หนึ่งในนั้นไม้ดอก      
     กลิ่นหอม
                                                                                                                                                  มะลิ ขาวนวลพร้อม
     ยิ่งแล้ว
                                                                                                                                                  หอมหวนกลิ่นนอบน้อม
     เย็นชื่น ใหลหลง 
                                                                                                                                                  สะอาดงามผ่องแผ้ว
     ค่าล้ำควรปอง”

 

อย่าลืมติดตาม เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๗ (Ep. 3/5) นะครับ เพราะในตอนต่อไปเราจะได้ไปทำความรู้จักกับ กล้วยไม้ราตรี พันธุ์ไม้อีกชนิดหนึ่ง ในฐานะดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติของอินโดนีเซีย

กวีศิลป์ คำจงค์

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย