เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๗ (Ep. 4/5)

  • 14/03/2017
  • จำนวนผู้ชม 3,084 คน

เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๗
(Ep. 4/5)

มะลิ กล้วยไม้ราตรี Rafflesia และ Titan Arum ดอกไม้ประจำชาติของอินโดนีเซีย

Sambac, Moon Orchid, Rafflesia and Titan Arum, the National Flowers of Indonesia

 

บทความ 2 ตอนสุดท้ายสำหรับเรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ 7 เราจะได้รุู้จักกับพันธุ์ไม้ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความแปลก และที่สำคัญที่สุด พืชทั้ง 2 ชนิดนี้ยังเป็นพันธุ์ไม้หายากในลำดับต้น ๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ มาตามติดพันธุ์ไม้ประจำชาติของอินโดนีเซียกันต่อได้ขอรับ

                 

          Padma Raksasa Rafflesia หรือ Rafflesia เป็นดอกไม้เฉพาะถิ่นของประเทศอินโดนีเซียที่ได้รับการยอมรับให้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติในหมวดหมู่มวลพืชหายากและใกล้สูญพันธุ์ของประเทศอินโดนีเซีย (Indonesian : Puspa langka) และในโอกาสต่อมาได้เพิ่มดอก Bunga Bangkai หรือ Titan Arum ให้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติในหมวดดังกล่าวร่วมกับ Rafflesia จากการสืบค้นข้อมูลสถานะของการอนุรักษ์พืชทั้ง 2 ชนิด สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) และบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์หรือบัญชีแดง (IUCN Red List of Threatened Species หรือ IUCN Red List หรือ Red Data List) พบว่าพืชทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว อยู่ในสถานะที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ‘Threatened species’ โดยที่

         Rafflesia : Rafflesia arnoldii R.Br. มีระดับความเสี่ยงมากกว่า คืออยู่ในระดับความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (Critically endangered species : CR) ซึ่งหมายถึงระดับความเสี่ยงขั้นอันตรายต่อการสูญพันธุ์จากถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ

          Titan Arum : Amorphophallus titanum (Becc.) Becc. อยู่ในระดับความเสี่ยงที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (Vulnerable species : VU) ซึ่งหมายถึงระดับความเสี่ยงขั้นอันตรายต่อความเป็นอันตรายจากการสูญพันธุ์จากที่อาศัยตามธรรมชาติ (IUCN 2.3, 1994)

 

                                                                                                                                                   “หนึ่งในนั้นไม้ดอก
        เพียงดิน
                                                                                                                                            Rafflessia รวยริน
        กลิ่นเหน้า
                                                                                                                                            ดั่งสรรค์เสกงามศิลป์
        กลางป่า ดงดอน
                                                                                                                                            ยากจักหาแม้เหย้า
        ถิ่นพื้นอินโด”   

 

          Padma Raksasa Rafflesia หรือ Rafflesia มีชื่อเรียกในภาษาพื้นเมือง อาทิ Giant Padma, Rare Padma, Kerubut (Devil's Betelnut Box) และ Corpse flower, Meat Flower (English) เป็นพืชเฉพาะถิ่นและอาศัยอยู่ในป่าฝนเขตร้อนที่มีสภาพชื้นแฉะ (ป่าดงดิบชื้นในป่าดิบเมืองร้อน) บนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ทางตอนใต้อย่างเช่น Bengkulu, Jambi และ South Sumatra และอาจเป็นไปได้ว่าพืชชนิดนี้อาจจะเป็นพืชเฉพาะถิ่นบนเกาะบอร์เนียวด้วยเช่นกัน Rafflesia สามารถพบได้ในพื้นที่ป่าที่มีระดับความสูงได้ถึง 1,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ‘Rafflesia arnoldii R.Br.’ เป็นพืชดอกที่จัดจำแนกอยู่ในสกุล Rafflesia ลักษณะวิสัยเป็นพืชเบียนหรือกาฝาก อยู่ในวงศ์ RAFFLESIACEAE พืชสกุลนี้ถูกค้นพบครั้งแรกในชวา โดย Louis Auguste Deschamps (ค.ศ. 1765-1842) นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ในระหว่างปี ค.ศ. 1791-1794 เขาได้เก็บตัวอย่างพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งทราบในปัจจุบัน คือ R. patma Blume แต่เอกสารทุกอย่างที่บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับพืชชนิดนั้น ภาพวาด และตัวอย่างพรรณไม้ ถูกยึดโดยชาวอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1803 จึงไม่มีหลักฐานใด ๆ เพื่อใช้สำหรับตรวจสอบและอ้างอิงในทางวิทยาศาสตร์ของตะวันตกได้ (จนกระทั้งปี ค.ศ. 1954 ได้พบเอกสารทั้งหมดอีกครั้ง ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ)

          และต่อมาในปี ค.ศ. 1818 Sir Thomas Stamford Raffles (ค.ศ. 1781-1826) รัฐบุรุษแห่งอังกฤษ ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าวท่านเป็นผู้แทนของประเทศอังกฤษเพื่อดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐ British Bencoolen ในระหว่างปี ค.ศ. 1817 – ค.ศ. 1822 (ปัจจุบันคือจังหวัด Bengkulu ของประเทศอินโดนีเซีย) และเป็นหัวหน้าคณะสำรวจพรรณไม้ โดยในครั้งนั้นมีผู้นำทางชาวอินโดนีเซียพร้อมด้วย Joseph Arnold (ค.ศ. 1782-1818) นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้ค้นพบพืชชนิดหนึ่ง ในพื้นที่ป่าซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแม่น้ำ Manna บริเวณป่าดิบชื้นหรือป่าฝนเขตร้อนของ Bencoolen บนเกาะสุมาตรในประเทศอินโดนีเซีย โดยให้ชื่อสกุลพืชชนิดนี้ว่า ‘Rafflesia’ ตามชื่อของรัฐบุรุษแห่งอังกฤษหัวหน้าคณะสำรวจในคราวนั้น และในเวลาต่อมา Robert Brown (ค.ศ. 1773-1858) นักพฤกษศาสตร์และนักบรรพชีวินวิทยาชาวสกอตได้ให้ชื่อระบุชนิดพืชชนิดนี้ว่า ‘arnoldii’ เพื่อเป็นเกียรติแก่ Joseph Arnold คณะผู้ร่วมสำรวจในครั้งนั้น พร้อมทั้งได้ตีพิมพ์และนำออกมาเผยแพร่ชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชชนิดนี้ว่า Rafflesia arnoldii R.Br. ในปี ค.ศ. 1821

 

         Rafflesia นับได้ว่าเป็นพืชเฉพาะถิ่นที่มีความโดดเด่นมากที่สุดชนิดหนึ่ง และนอกจากนี้ยังเป็นพืชดอกประเภทดอกเดี่ยวที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดในโลกอีกด้วย เป็นพืชที่ไม่มีลำต้น ไม่มีใบ และไม่มีรากที่แท้จริง แต่จะสามารถสังเกตเห็นได้ก็ต่อเมื่อตาดอกเริ่มงอกโผล่ผ่านเปลือกของพืชที่ถูกอาศัย (host) ออกมา เพื่อใช้ระยะเวลาสำหรับการพัฒนาไปสู่ดอกไม้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 9 เดือน สำหรับการผลิบานของดอกเพียงแค่ไม่ถึง สัปดาห์ ซึ่งแตกต่างกับดอกไม้ชนิดอื่น ๆ และนอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นเฉพาะตัวในฐานะที่เป็นพืชปรสิตแท้ของต้นไม้ (holoparasites) เพราะพืชชนิดนี้ไม่มีคลอโรฟิลล์ จึงไม่มีการสังเคราะห์ด้วยแสงและไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ โดยส่วนใหญ่มักเป็นพืชกาฝากของพืชที่ถูกอาศัยอย่างเครือเขาน้ำ (Tetrastigma leucostaphylum (Dennst.) Alston) ซึ่งเป็นไม้เถาเลื้อยที่มีเนื้อไม้ (woody climber) ในวงศ์ VITACEAE โดย Rafflesia จะกระจายโครงสร้าง (haustorium) ที่มีลักษณะคล้ายรากเข้าไปในเนื้อเยื่อของไม้เถาที่เป็นพืชที่ถูกอาศัย เพื่อใช้สำหรับการดูดซึมน้ำ แร่ธาตุ สารอาหารต่าง ๆ ทั้งสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ เพื่อใช้สำหรับการดำรงชีวิตให้สามารถอยู่รอดได้ พืชชนิดนี้จะใช้ชีวิตเริ่มต้นในลักษณะเป็นเส้นใยบาง ๆ อยู่ตามรากและลำต้นของต้นไม้ที่ให้อาศัย จนกระทั่งมีอายุ 5 ปี มันจึงจะออกดอก โดยตอนแรก ดอกจะปรากฏเป็นปุ่มเล็กๆ ที่ผิว (สุทัศน์, 2553) ซึ่งเป็นเพียงแค่ส่วนเดียวของพืชกาฝากเท่านั้นที่จะสามารถมองเห็นได้จากภายนอกของไม้เถาที่เป็นพืชที่ถูกอาศัยโครงสร้างของดอกไม้มีขนาดใหญ่ กลีบดอกจำนวน 5 กลีบ เนื้อกลีบดอกมีลักษณะที่ฉ่ำน้ำ สีน้ำตาลแดงและมีจุดกระสีขาวกระจายอยู่โดยทั่ว ล้อมรอบส่วนปากที่คล้ายถังรูปทรงกระบอก ส่วนบริเวณที่ฐานภายในดอกจะพบเกสรเพศผู้หรือเกสรเพศเมียนั้นขึ้นอยู่กับว่า ดอกนั้น ๆ เป็นดอกเพศผู้หรือดอกเพศเมีย โดยเมื่อดอกบานเต็มที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของดอกกว้างได้มากกว่า 100 ซม. และมีน้ำหนักมากถึง 10 กิโลกรัม พร้อมทั้งส่งกลิ่นคล้ายกับซากศพที่เน่าเปื่อย ซึ่งจะมีกลิ่นเหม็นแรงมากในวันแรก ๆ ที่ดอกบาน และกลิ่นนั้นก็จะค่อย ๆ จางลง ดังชื่อพื้นเมืองที่แปลได้ความหมายเดียวกับคำว่า ‘corpse flower’ หรือ ‘meat flower’ กลิ่นเหม็นเน่านั้นจะดึงดูดแมลงอย่างเช่น แมลงวัน ด้วงมูลสัตว์ (pollinator) ซึ่งจะเป็นผู้ช่วยสำหรับการผสมเกสร โดยแมลงจะทำหน้าที่นำละอองเรณูจากดอกเพศผู้ไปส่งให้ยังดอกเพศเมีย เนื่องจากพืชชนิดนี้เป็นดอกแยกเพศ เพียงในระยะเวลาอันสั้นไม่เกินสัปดาห์ ส่วนของดอกก็จะเหี่ยวเฉาแห้งตายไป ผลมีลักษณะเนื้อฉ่ำน้ำ มีเมล็ดจำนวนมาก เปลือกเมล็ดแข็ง นั้นก็ยิ่งทำให้มีโอกาสน้อยลง ที่ต้นกล้าเล็ก ๆ ของ Rafflesia จะไปสร้างความเสียหายแก่รากหรือลำต้นหรือกิ่งก้านของพืชที่ถูกอาศัยต้นใหม่ แต่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายของเมล็ดพันธุ์เพื่อที่จะให้เกิดดอกอีกครั้งหนึ่ง มีอยู่หลายประเด็นที่ยังคงเป็นข้อสงสัยและยังไม่สามารถหาคำตอบได้ แต่อย่างไรก็ตาม กระรอกดิน กระแต และสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ก็ยังคงทำหน้าที่กินผลและกระจายเมล็ดพันธุ์ดังเดิมต่อไป

        ดอกไม้ชนิดนี้ใช้ระยะเวลาหลายเดือนสำหรับการพัฒนาตาดอกจวบจนกระทั้งถึงเวลาที่ดอกผลิบาน ช่วงระยะเวลาการบานของดอกเพียงไม่กี่วัน ถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการดำรงอยู่ซึ่งเผ่าพันธุ์ของพืชชนิดนี้ให้มีชีวิตอยู่รอด กลิ่นเหม็นของพืชที่เชื้อเชิญให้เหล่าแมลงทั้งหลายเข้ามาช่วยกันผสมเกสร เพื่อที่จะช่วยขยายเวลาให้สามารถดำรงเผ่าพันธุ์ให้คงอยู่รอดได้สืบต่อไป แม้ว่าโอกาสสำหรับการปฏิสนธิและการพัฒนาจนกลายเป็นผลจะมีเพียงเล็กน้อย แม้ว่าผลสัมฤทธิ์ของการขยายพันธุ์ที่เกิดขึ้นอาจจะมีเพียงประมาณร้อยละ 10 ซึ่งก็นับว่าโชคดีแล้ว สำหรับการรอคอยโอกาสที่ยาวนานเช่นนี้ราว 9-12 เดือน และโดยส่วนมาก Rafflesia จะอาศัยอยู่เฉพาะในป่าดิบชื้นที่ไม่ค่อยถูกรบกวนมากนัก ทำให้ยิ่งยากมากที่จะทำให้มีชีวิตอยู่รอด เจริญเติบโตและขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนได้ต่อไปในสภาวะแวดล้อมที่อยู่ในสถานการณ์อันวิกฤตอย่างเช่นปัจจุบัน Rafflesia เป็นพืชเฉพาะถิ่นและเป็นพืชหายากที่ไม่มีใครที่จะสามารถนำไปปลูกในพื้นที่อื่นใดตามแต่ใจจะปรารถนาได้ ซึ่งแตกต่างกับพรรณไม้ชนิดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใด ๆ ก็ตาม ถึงแม้ว่าภายในพื้นที่ที่ต้องการปลูกพืชชนิดนี้จะถูกเนรมิตด้วยการจำลองสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ให้เหมือนกับพื้นที่ถิ่นที่อยู่ที่มีลักษณะเฉพาะของพืชชนิดนี้อย่างป่าดงดิบชื้นหรือป่าฝนเขตร้อน ในป่าดิบเมืองร้อนได้ก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีรายงานการเจริญเติบโตของพืชสกุล Rafflesia โดยการเพาะปลูกจำนวนหนึ่ง แต่ก็มักสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นผลของการตอนกิ่งจากพืชที่ถูกอาศัย (host) มากกว่าความสำเร็จที่มนุษย์จะเป็นผู้เพาะปลูกให้ Rafflesia เข้าไปเจริญเติบโตในพืชที่ถูกอาศัยได้เอง

       

         ดอกตูมของ Rafflesia ถูกลักลอบเก็บมาขายเพื่อใช้ทำเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้าน โดยมีความเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมการตั้งครรภ์ เป็นยาบำรุงสตรีหลังคลอด ช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายให้สมบูรณ์ แข็งแรง มีผิวพรรณที่เปล่งปลั่ง ใช้สำหรับเป็นยากระตุ้นความต้องการทางเพศ ซึ่งมีแนวโน้มว่าการใช้ดอกตูมเหล่านี้ดูจะเกี่ยวข้องกับรูปทรง ลักษณะ สี ขนาด และความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องโชคลางของดอกไม้ชนิดนี้มากกว่าการเชื่อมโยงกับสรรพคุณทางพฤกษเคมีอย่างแท้จริง อีกทั้งยังไม่มีผลการรับรองและการยืนยันเกี่ยวกับสรรพคุณของ Rafflesia จากนักเภสัชศาสตร์แต่อย่างใด และชาวบ้านบางส่วนยังเชื่อว่า ถ้านำดอกตูมของดอกไม้ชนิดนี้มาต้มให้ผู้หญิงที่เพิ่งคลอดลูกดื่ม จะทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีผลใด ๆ (สุทัศน์, 2553) และยังพบอีกว่าดอกตูมที่ถูกทำให้แห้งของ Rafflesia ยังนิยมนำมาเป็นส่วนประกอบสำหรับการปรุงอาหารจีนอีกด้วย

        Rafflesia เป็นดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมักจะใช้เป็นภาพสำหรับสื่อโฆษณาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ตลอดจนใช้สื่อเพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ใช้เป็นสัญลักษณ์ของโครงการ Flora Malesiana ซึ่งเป็นโครงการที่มีจุดประสงค์ในการบรรยายรูปแบบของพืชดอกทั้งหมดที่พบในอาณาบริเวณระหว่างประเทศไทยถึงประเทศออสเตรเลีย Rafflesia sp. ชนิดหนึ่งถูกใช้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำรัฐ Sabah ในประเทศมาเลเซีย ส่วนดอกไม้ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีในประเทศไทยเป็นดอกบัวผุดหรือ Rafflesia kerrii Meijer นอกจากนี้รูปภาพดอกในสกุล Rafflesia ยังถูกพิมพ์เป็นดวงตราไปรษณียากรหรือแสตมป์ของประเทศอินโดนีเซีย และในประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

          ปัจจุบันพืชชนิดนี้และชนิดอื่น ๆ ในสกุล Rafflesia อยู่ในสถานะถูกคุกคาม เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หรือใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ได้ถูกทำลายลงไปอย่างมากในหลายพื้นที่ เช่นการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำการเกษตร ทำเหมืองแร่ และที่อยู่อาศัยของมนุษย์ นอกจากนี้ยังเกิดความเสี่ยงจากการถูกรบกวนโดยนักท่องเที่ยว และการเก็บรวบรวมดอกตูมเพื่อใช้สำหรับทำเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้าน ทำให้ประชากรของ Rafflesia ลดลงเป็นจำนวนมาก โดยอุทยานแห่งชาติ Kerinci Seblat เป็นพื้นที่หลักสำหรับการอนุรักษ์ R. arnoldii R.Br. และพืชชนิดอื่น ๆ ในสกุล Rafflesia ซึ่งตั้งอยู่ในเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย โดยครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ Bengkulu, Jambi, South Sumatra และ West Sumatra และนี้ก็คงเป็นเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้ประเทศอินโดนีเซียเลือกให้ R. arnoldii R.Br. เป็นตัวแทนของพืชหายากหนึ่งในดอกไม้สัญลักษณ์ของชาติ เพื่อช่วยกระตุ้นเตือนจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และพืชในสกุล Rafflesia เป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่สำคัญที่ชาวอินโดนีเซียได้ส่งผ่านมาถึงทุก ๆ คน ก่อนที่พืชทั้งหมดเหล่านั้นจะสูญสิ้นไป

 

เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและให้ข้อคิดได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นพรรณไม้ชนิดใด พืชเหล่านั้นก็ล้วนถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ของตนเอง แม้จะเป็นเพียงแค่ส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่ง แม้ใคร ๆ หลายคนอาจจะละเลยและไม่ใส่ใจที่จะให้ความสำคัญ ไม่เป็นไร แต่ขออย่าได้เหยียด อย่าได้ดูแคน เพียงแค่การตัดสินใจเฉพาะคุณ การตัดสินใจโดยที่ปราศจากความรู้จริง และไม่มีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงใด ๆ แล้วพบกันใน Ep. 5/5 ครับผม

กวีศิลป์ คำวงค์

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย