โครงการแกล้งดิน ตอนที่ 2 "การปรับปรุงดิน"

  • 11/03/2024
  • จำนวนผู้ชม 69 คน

โครงการพระราชดำริ 

โครงการแกล้งดิน ตอนที่ 2... "การปรับปรุงดิน"

ถัดจากหลักการแกล้งดินในบทความตอนที่แล้ว ถัดมาคือวิธีการปรับปรุงดิน จะมีวิธีการหลักๆ คือ

1.ใช้ปูน เช่น ปูนขาว ปูนมาร์ล เปลือกหอยบด หรือหินปูนฝุ่นใส่ลงไปในดินประมาณ 1-3 ตันต่อไร่ แล้วผสมให้เข้ากันปูนซึ่งเป็นเบสจะทำปฏิกิริยาสะเทินกับกรดกำมะถันในดิน ทำให้ดินมีสภาพเป็นกลาง

2.ใช้น้ำชะล้างกรดในดินโดยตรง วิธีการนี้ใช้เวลานานกว่าวิธีใช้ปูน แต่ได้ผลเหมือนกัน

3.ยกร่องเพื่อปลูกพืชไร่ ไม้ผล หรือไม้ยืนต้น โดยต้องมีแหล่งน้ำอยู่ข้าง ๆ เพื่อถ่ายเทน้ำได้ ถ้าน้ำในร่องเป็นกรดเมื่อใช้น้ำชะล้ำางกรดบนสันร่อง กรดจะถูกน้ำชะไปยังคูที่อยู่ด้านข้าง แล้วระบายออกไป และต้องคำนึงถึงการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ด้วย ถ้ามีโอกาสน้ำจะท่วม ก็ไม่ควรใช้วิธีนี้

4.ควบคุมระดับน้ำใต้ดิน ไม่ให้ต่ำกว่า 1 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ดินชั้นล่างแห้ง หรือทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ซึ่งควรจะต้องมีแหล่งน้ำจากระบบชลประทานเข้ามาช่วย

5.ใช้พืชพันธุ์ที่ทนทานต่อความเป็นกรดมาปลูกในดินเปรี้ยว เช่น มะม่วง มะขาม กระท้อน ขนุน ฝรั่ง ยูคาลิปตัส สะเดา อื่น ๆ

"โครงการแกล้งดิน" ไม่ได้สิ้นสุดลงเฉพาะที่จังหวัดนราธิวาสเท่านั้น แต่ยังได้นำไปใช้กับจังหวัดอื่น ๆ ด้วย โดยในปีพ.ศ. 2535 ได้มีการนำไปใช้ในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่บางส่วนของจังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา และโครงการพัฒนาพื้นที่ พรุแฆแฆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีและในปี พ.ศ. 2541 ได้นำมาใช้กับโครงการศึกษาทดลองการแก้ปัญหาดินเปรี้ยว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ดังนั้นโครงการนี้ จึงเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ให้แก่ราษฎรทั่วประเทศ

สิทธิบัตร 

จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ดำเนินโครงการ "แกล้งดิน" ซึ่งเป็นโครงการที่ทดลอง แก้ไข ปรับปรุง จนได้วิธีที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว และด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านการเกษตร และด้านนวัตกรรมของพระองค์ ทำให้สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยให้ดีขึ้นสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจมากมายและหลากหลาย ซึ่งล้วนเป็นคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อชาวไทยและชาวโลก จึงได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์โครงการแกล้งดิน ไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา และได้ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่อง "กระบวนการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยว เพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก" (โครงการแกล้งดิน) ในสาขาวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงดิน เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2550

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย