ภายในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ของเรามีการจัดแสดงองค์ความรู้ด้านศิลปกรรมล้านนา และหนึ่งในศิลปกรรมล้านนาที่เรารู้จักกันดีก็คือ “หอคำหลวง”
วันนี้แอดมินจะพาทุกท่านไปรู้จักกับศิลปกรรมล้านนาอีกอย่างหนึ่งที่ตกแต่งบนประตูทางเข้าและตามชายคาหลังคาของหอคำหลวง นั่นก็คือ “พญาลวงหรือตัวลวง”
“พญาลวงหรือตัวลวง” เป็นสัตว์ในตำนานตัวหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในศิลปกรรมล้านนา และมักถูกเข้าใจว่าเป็นพญานาค แต่หากดูรายละเอียดแล้วจะพบว่า มีความแตกต่างกันตรงที่พญาลวงนั้นจะมีลักษณะคล้ายมังกรและพญานาครวมกัน และเชื่อกันว่าคำว่า “ลวง” มาจากคำว่า “เล้ง” ที่แปลว่า “มังกร”จะมีสี่ขาอย่างมังกร มีหู มีปีก และมีเขา ซึ่งสันนิษฐานว่า "พญาลวง" รับรูปแบบมาจากศิลปกรรมของจีน โดยมีความหมายถึง พลัง อำนาจ ความยิ่งใหญ่ และเพศชาย อีกทั้งในยามค่ำคืนที่มองเห็นฟ้าแลบบนท้องฟ้า มองดูแล้วมีความงดงามอย่างมาก ชาวล้านนามักเรียกขานความงามจากปรากฎการณ์นี้ว่า “ลวงเล่นฝ้า”
พญาลวง เป็นสัตว์มงคลในด้านของความเชื่อที่หมายถึงการให้น้ำให้ฝน จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ในการหล่อเลี้ยงชีวิต พืชพรรณธัญญาหาร โดยงานศิลปกรรมของตัวลวงในล้านนานั้น ปรากฏให้เห็นในบริเวณดาวเพดานของวัดและส่วนหลังคาของวัด ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อต้องการแสดงถึงท้องฟ้าและความอุดมสมบูรณ์สิริมงคล และหากลูกเพจท่านใดสนใจศิลปกรรมล้านนาของตัวลวง สามารถเข้าชมได้ในบริเวณของหอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ได้ทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น.