"พืชสกุลราชพฤกษ์...กับความเชื่อ"
ในครั้งที่แล้วเราพูดถึงความหลากหลายของพืชกลุ่ม “…พฤกษ์” หรือหากเรียกให้เข้าใจง่ายคือ พืชสกุลราชพฤกษ์ (Cassia) ภายในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ที่มีทั้ง
- ราชพฤกษ์
- กัลปพฤกษ์
- ชัยพฤกษ์
- กาฬพฤกษ์
- รัตนพฤกษ์
คูนดอกขาว หรือ วชิรพฤกษ์
ในวันนี้ที่เราจะกล่าวถึงความเป็นมาของต้นราชพฤกษ์ กัลปพฤกษ์ และชัยพฤกษ์ ในความเชื่อของคนไทยที่ไปในทางเดียวกันคือ "การเป็นไม้มงคล"
......................................................................
"ราชพฤกษ์...ไม้มงคลเสริมเกียรติ บารมี"
......................................................................
ไม้ต้นที่ออกดอกสีเหลืองห้อยเป็นพวง ระย้า ดูสง่างาม และมีสีตรงกับวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงถูกตั้งชื่อว่าเป็น “ต้นไม้ของในหลวง” และยังเป็นไม้มงคลที่ได้รับยกย่องให้เป็นดอกไม้ประจำชาติไทย เพราะมีสีเหลืองสดใส สื่อถึงพระพุทธศาสนาและความรุ่งโรจน์อีกด้วย การปลูกต้นราชพฤกษ์ไว้ถือว่าเป็นการเสริมเกียรติยศ บารมี และยังพบว่ามีประวัติเกี่ยวข้องกับประเพณีวัฒนธรรมของไทย เช่น ต้นราชพฤกษ์ หรือชื่อแต่เดิมที่เรียกว่า “ชัยพฤกษ์” (อ้างอิงตามพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 และพ.ศ.2530 ได้ให้ความหมาย “ชัยพฤกษ์” คือต้นไม้ชนิดหนึ่งดอกสีเหลือง ช่อดอกยาวห้อย ภายหลังตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้ให้ความหมายต้นชัยพฤกษ์ คือชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ดอกสีชมพูเข้ม เมื่อออกดอกไม่ทิ้งใบ) เนื่องจากต้นราชพฤกษ์เป็นไม้มงคลที่นิยมใช้ประกอบพิธีที่สำคัญอย่างพิธีเสาหลักเมือง ใช้เป็นส่วนประกอบในการทำคฑาจอมพล ยอดธงชัยเฉลิมพลกองทหาร ใบของราชพฤกษ์ถูกใช้ในการทำน้ำพระพุทธมนต์สะเดาะเคราะห์ อีกทั้งช่อดอกราชพฤกษ์ที่เคยถูกเรียกว่าชัยพฤกษ์นี้ ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์มงคลที่เรียกว่า “ช่อชัยพฤกษ์” ซึ่งอยู่ในเครื่องหมายอินทรธนูประกอบเครื่องแบบข้าราชการอีกด้วย
นอกจากนี้ ต้นราชพฤกษ์ยังเป็นต้นไม้ประจำอุทยานหลวงราชพฤกษ์ โดยมีที่มาจากชื่ออุทยานหลวงราชพฤกษ์ หมายถึง สวนของพระมหากษัตริย์ ต้นราชพฤกษ์ หรือ ต้นคูน (ลมแล้ง ภาษาพื้นเมืองภาคเหนือ) นั้น ได้รับการยกให้เป็น ดอกไม้ประจำชาติไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2544 และด้วยชื่ออันเป็นมงคลยิ่ง (ราชพฤกษ์ : ต้นไม้ของพระราชา) ซึ่งตรงกับงานมหกรรมพืชสวนโลก "เฉลิมพระเกียรติ" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้จัดในสถานที่นี้ ชื่อดอกราชพฤกษ์จึงถูกใช้เป็นชื่อของอุทยานหลวงแห่งนี้ และดอกราชพฤกษ์ก็ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของอุทยานหลวงราชพฤกษ์นั่นเอง
..............................................................................
"กัลปพฤกษ์...ไม้มงคลแห่งความสำเร็จ"
..............................................................................
กัลปพฤกษ์ ก็เป็นไม้มงคลตามความเชื่อโบราณในเรื่องความเป็นไม้สารพัดนึก ไม้มงคลแห่งความสำเร็จ ตามชื่อสามัญอีกชื่อหนึ่งว่า Wishing Tree โดยเชื่อว่าหากอธิษฐานใต้ต้นกัลปพฤกษ์ จะทำให้สมปรารถนา ในคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วงมีคำบรรยายถึงต้นกัลปพฤกษ์อยู่ตอนหนึ่งว่า
"แลในแผ่นดินอุตตกุรุทวีปนั้น มีต้นกัลปพฤกษ์ต้นหนึ่ง โดยสูงได้ ๑๐๐ โยชน์ โดยกว้างได้ ๑๐๐ โยชน์ โดยรอบบริเวณมณฑลได้ ๓๐๐ โยชน์แล ต้นกัลปพฤกษ์นั้นผู้ใดจะปรารถนาหาทุนทรัพย์ สรรพเหตุใดๆ ก็ดี ย่อมได้สำเร็จในต้นไม้นั้นทุกประการแล…” (เดชา, 2548)
และยังกล่าวถึงว่ากัลปพฤกษ์เป็นต้นไม้สารพัดนึก เป็นต้นไม้อยู่บนสวรรค์ สำหรับโลกมนุษย์ ต้นกัลปพฤกษ์จะมาบังเกิดเมื่อพระศรีอาริยเมตไตยมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป โดยต้นกัลปพฤกษ์จะขึ้นอยู่ที่ประตูเมืองทั้ง ๔ ด้าน ใครต้องการสิ่งของอะไรก็ไปอธิษฐานขอเอาจากต้นกัลปพฤกษ์ดังกล่าวนั้นได้ทุกคน
................................................................
"ชัยพฤกษ์...ต้นไม้แห่งชัยชนะ"
................................................................
ชัยพฤกษ์ ต้นไม้มงคลดั่งชื่อ โดยความหมายของต้นชัยพฤกษ์คือ “ต้นไม้แห่งชัยชนะ” หากปลูกไว้ในบ้านจะช่วยให้ผู้อยู่อาศัยเอาชนะภัยอันตรายหรืออุปสรรคในชีวิตได้ ทำให้ประสบความสำเร็จ โดยควรปลูกไว้ทางทิศตะวันออกของบ้าน แต่ถึงอย่างนั้นแล้วตามความเชื่อของไทยยังไม่ระบุแน่ชัดว่า ความเชื่อ “ต้นไม้แห่งชัยชนะ” ที่กล่าวถึงจะหมายถึงชัยพฤกษ์ต้นไม้ที่มีดอกสีชมพูเข้มอย่างในปัจจุบัน หรือหมายถึงต้นราชพฤกษ์ ต้นไม้ดอกสีเหลือง ที่แต่เดิมถูกเรียกชื่อว่าชัยพฤกษ์เหมือนกัน
..............................................................................
"ความเป็นมา...กับข้อสงสัยระหว่าง ราชพฤกษ์ กับชัยพฤกษ์"
..............................................................................
ต้นราชพฤกษ์ มีชื่ออื่นที่เรียกกันคือ ชัยพฤกษ์, คูน (ภาคกลาง); ลมแล้ง (ภาคเหนือ); กุเพยะ (กาญจนบุรี) โดยแต่เดิมด้วยส่วนของลำต้นที่นิยมใช้ประกอบพิธีที่สำคัญอย่างพิธีเสาหลักเมือง คฑาจอมพล ยอดธงชัยเฉลิมพลกองทหาร ในสมัยก่อนไทยเราจึงคุ้นเคยกับต้นราชพฤกษ์ในชื่อมงคลว่า “ชัยพฤกษ์”
หากเล่าความเป็นมาก่อน-หลัง ของชื่อราชพฤกษ์และชัยพฤกษ์เมื่ออ้างอิงการบันทึกจาก พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ระบุว่า
ชัยพฤกษ์และราชพฤกษ์ ในชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula Linn. วงศ์ Leguminosae หรือ Fabaceae ในปัจจุบัน เป็นพรรณไม้ดอกสีเหลืองอ่อน ช่อดอกยาวห้อย ขณะมีดอกจะไม่มีใบ หรือใบน้อย ขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วไป
พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2530 ระบุว่า
ชัยพฤกษ์ (คูน, ลมแล้ง) ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula Linn. วงศ์ Leguminosae หรือ Fabaceae ในปัจจุบัน ขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ดอกสีเหลือง ช่อดอกยาวห้อย ขณะออกดอกไม่มีใบ หรือมีน้อย ฝักเรียบไม่มีขน ใช้ทำยาได้ ในภาคอีสาน แก่นใช้กินแทนหมากได้
ราชพฤกษ์ ชื่อไม้ต้นชนิด Cassia agnes Brenan, Cassis javanica Linn., Cassia nodosa Ham. ในวงศ์ Leguminosae ดอกสีชมพู ฝักมีขนเล็กน้อย ใช้ทำยาได้ เฉพาะ ๒ ชนิดหลังเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กัลปพฤกษ์
พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ระบุว่า ชัยพฤกษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia javanica Linn. วงศ์ Leguminosae หรือ Fabaceae ในปัจจุบัน ดอกสีชมพูเข้ม เมื่อออกดอกจะไม่ทิ้งใบ ฝักมีขนเล็กน้อย ใช้ทำยาได้
ราชพฤกษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula Linn. วงศ์ Leguminosae หรือ Fabaceae ในปัจจุบัน ชื่ออื่นๆ คือ คูน ลมแล้ง ดอกสีเหลือง ฝักสีดำเกลี้ยง ใช้ทำยาได้
ต่อมาเมื่อแยกระหว่าง "ราชพฤกษ์" และ "ชัยพฤกษ์" เป็นที่ชัดเจน และรู้จักกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ต้นราชพฤกษ์ที่เคยถูกลงมติให้เป็นต้นไม้ประจำชาติโดยกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2506 ดอกราชพฤกษ์ที่เป็นดอกไม้จากต้นไม้ประจำชาติ กอปรกับเป็นต้นไม้ของในหลวง (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) ดอกราชพฤกษ์จึงได้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำชาติไทย โดยคณะรัฐมนตรีจึงได้เห็นชอบและออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติไทย ๓ สิ่ง คือ 1) สัตว์ประจำชาติไทย คือช้างไทย 2) ดอกไม้ประจำชาติไทย คือดอกราชพฤกษ์ (คูน) 3) สถาปัตยกรรมประจำชาติ คือ ศาลาไทย เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๔