เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๙ (Ep. 2/4)

  • 15/03/2017
  • จำนวนผู้ชม 3,863 คน

เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๙
(Ep. 2/4)

มะลิ ดอกไม้ประจำชาติของฟิลิปปินส์

Sampaguita is the National Flower of Philippines

 

จากเรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๙ (Ep. 1/4) เราได้ทราบความสำคัญของ Sampaguita ในฐานะของดอกไม้ประจำชาติของฟิลิปปินส์แล้ว ในตอนนี้เรามาทำความรุู้จักดอกไม้ชนิดนี้ให้มากยิ่งขึ้นกันเลยขอรับ

 

       Sampaguita หรือมะลิ นำเข้ามาในประเทศฟิลิปปินส์ตั้งแต่ในช่วงยุคก่อนที่จะมีการจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในระหว่างช่วงทีมีการพบปะค้าขาย ดอกมะลิจึงใช้สำหรับมอบให้เพื่อเป็นของขวัญของกำนัลในระหว่างการค้าขายทางเรือกับนานาประเทศในแถบทะเลจีนใต้และประเทศในบริเวณใกล้เคียง ต่อมาจึงได้พบเอกสารสำคัญที่ระบุถึงดอกมะลิชนิดหนึ่งที่พบในประเทศฟิลิปปินส์และอ้างชื่อดอกมะลิชนิดนี้ว่า ‘Sampaguita’ พร้อมทั้งได้เขียนบรรยายลักษณะของพรรณไม้ดังกล่าวไว้ในช่วงปี ค.ศ. 1698 (หรืออาจเป็นช่วงระยะเวลาก่อนหน้านั้น) โดย Ignacio Mercado (ค.ศ. 1648–1698) นักบวช Augustinian และนักพฤกษศาสตร์ชาวฟิลิปปินส์ และยังถือได้ว่าเป็นบุคคลแรกที่ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับการใช้ยาสำหรับการรักษาว่า ‘Declaracion de las virtudes de los arboles y plantas que estan en este libro’ เขาได้บันทึกไว้ว่า “ใบของ Sampaga นั้น (เป็นดอกมะลิอีกชนิดหนึ่งที่มีขนาดดอกใหญ่กว่า Sampaguita) ใช้ทำเป็นยาน้ำแบบน้ำเชื่อม (syrup) ที่มีสรรพคุณอย่างยอดเยี่ยมสำหรับบำรุงหัวใจ ส่วนวิธีการอบด้วยไอน้ำก็เป็นการรักษาโรคหอบหืดได้เป็นอย่างดี” และประโยชน์ของมะลิที่ใช้สำหรับเป็นพืชสมุนไพรอื่น ๆ อาทิ

          รากมะลิ ใช้เป็นยาสมุนไพรสำหรับรักษาบาดแผลจากงูกัด

          รากมะลิสด ในปัจจุบันจะใช้สำหรับการรักษาโรคกามโรค

          ใบมะลิ ใช้เป็นยา lactifuge เป็นยาที่ใช้ภายนอก เพื่อยังยั้งการไหลของน้ำนม ในกรณีที่มีน้ำนมไหลออกมามากเกินกว่าปกติหลังจากการคลอดลูก ถ้านำใบไปต้มในน้ำมันใช้สำหรับทำเป็นยาหม่องชโลมหรือทาบริเวณศีรษะ บรรเทาอาการเจ็บปวดจากโรคที่เกี่ยวกับดวงตา ซึ่งใช้โดยชาวพื้นเมือง ในอีกกรณีหนึ่ง ถ้านำใบมะลิแห้งมาแช่น้ำใช้สำหรับเป็นยาพอกเพื่อรักษาอาการเจ็บปวดเล็ก ๆ น้อย ๆ จากฝี และสำหรับรักษาโรคผิวหนังหรือบาดแผล

          ใบและดอกมะลิ ใช้เป็นส่วนผสมสำหรับการรักษาอาการไข้สูง โดยนำใบและดอกมะลิมาต้มน้ำดื่ม

          สารละลายแอลกอฮอล์ที่ผลิตได้จากดอกมะลิ ใช้สำหรับเป็นยากล่อมประสาท ยาสลบ และยารักษาบาดแผล

          น้ำมันสกัดจากดอกและใบมะลิ ใช้เป็นส่วนผสมสำหรับทำเทียน เพื่อเป็นตัวให้กลิ่นสำหรับการบำบัดรักษาโรคแบบ Aromatherapy

          น้ำมันสกัดจากดอกมะลิ เป็นส่วนประกอบสำหรับใช้ในเครื่องสำอาง เช่นน้ำหอม น้ำยาระงับกลิ่นกาย น้ำมันบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ หรืออาจใช้สำหรับการผสมในโลชั่นสำหรับดูแลรักษาผิวพรรณ และน้ำมันที่ใช้สำหรับ

          สารสกัดจากดอกมะลิ ใช้สำหรับทำสบู่ และน้ำมันที่ได้ใช้สำหรับกิจการการนวดและธุรกิจสปา

          สารประกอบในมะลิ ได้แก่ เหล็ก ไกลโคไซด์ แทนนิน ไขมัน ซิลิกอน และแคลเซียมออกซาเลต เป็นต้น

 

         แต่ทว่าสิ่งที่ชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบเกี่ยวกับ Sampaguita หรือดอกมะลินั้นก็คือว่ามันมีศักยภาพสำหรับการสร้างรายได้ เนื่องจากดอกมะลิสามารถนำมาสกัดน้ำมันจากธรรมชาติได้ ตั้งแต่ในสมัยโบราณจะปลูกมะลิเพื่อใช้ดอกเป็นวัตถุดิบสำหรับการสกัดน้ำมันหอมระเหย ตามที่ Bureau of Plant Industry (BPI; Department of Agriculture, Philippines) ดอกมะลิเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่มีการเพาะปลูกภายในประเทศ จากการที่นักวิจัยได้นำดอกมะลิมาสกัดน้ำมัน พร้อมด้วยตะไคร้ (Citronella; Cymbopogon citratus (DC.) Stapf) และดอกกระดังงา (Ylang-Ylang) ซึ่ง BPI เคยใช้ดอกมะลิเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตน้ำมันโดยผ่านการสกัด โดยทาง BPI ยืนยันว่าสารสกัดจากใบมะลิสามารถนำมาใช้สำหรับผลิตสบู่สมุนไพร และมีผลสำหรับการรักษาโรคผิวหนัง (Pinoyentre, 2010)

 

        มะลิมีอรรถประโยชน์อย่างมากหลาย นอกจากจะใช้เป็นยาสมุนไพร และใช้สำหรับปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับแล้ว ยังนิยมนำดอกมะลิมาร้อยเรียงเข้าด้วยกันดังเรียกโดยทั่วไปว่า “พวงมาลัยดอกมะลิ” พวงมาลัยดอกมะลิเป็นดั่งคำมั่นสัญญารักที่มีให้ซึ่งกันและกัน เนื่องจากในสมัยก่อนคู่หนุ่มสาวจะแลกเปลี่ยนพวงมาลัยดอกมะลิที่ใช้สำหรับคล้องคอซึ่งกันและกัน เฉกเช่นเดียวกันกับธรรมเนียมในปัจจุบันที่เจ้าสาวและเจ้าบ่าวนิยมแลกแหวนสำหรับในการแต่งงาน Jessica Soho ได้ระบุว่า ดอกมะลิที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการร้อยพวงมาลัย และส่งไปจำหน่ายในกรุงมะนิลานั้น ส่วนใหญ่เป็นดอกมะลิที่ปลูกที่เมือง San Pedro ในจังหวัด Laguna คนแก่ชาวพื้นเมืองยังจำได้ว่า Tandang Seto เป็นบุคคลคนแรกที่ได้ริเริ่มการเก็บดอกมะลิขณะที่เป็นดอกตูมเพื่อนำมาร้อยเรียงเป็นพวงมาลัยในรูปแบบต่าง ๆ และต่อมาอีกไม่นานชาวเมืองในกรุงมะนิลาก็ได้รับซื้อดอกมะลิตูมจากเขา นับได้ว่าเป็นโอกาสอันดีที่ชาวเมือง San Pedro จะได้หันมาเริ่มปลูกมะลิ เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตมาขายให้กับ Tandang Seto และน้องสาวของเขาอย่าง Tandang Osiang และคนอื่น ๆ ที่ทำเช่นเดียวกัน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการปลูกมะลิจึงได้แพร่ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ปัจจุบันพื้นที่สำหรับการปลูกมะลิลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากหลายพื้นที่ถูกแปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่สำหรับก่อสร้างที่อยู่อาศัย สำหรับการปลูกมะลิในเมือง San Pedro ถือได้ว่าเป็นมรดกที่สำคัญทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ได้สืบทอดต่อ ๆ กันมาของชาวบ้านในเมืองนี้ (Jessica Soho, in TRAVELER ON FOOT) ชาวฟิลิปปินส์มักจะนำเชือกเส้นเล็ก ๆ มาเรียงร้อยดอกมะลิเข้าไว้ด้วยกันกลายเป็นพวงมาลัยดอกมะลิในรูปแบบที่หลากหลาย โดยถ้าเป็นดอกที่บานแล้วจะร้อยแบบหลวม ๆ ส่วนถ้าเป็นดอกที่ยังคงตูมดอกอยู่จะร้อยค่อนข้างแน่น หรือร้อยทำเป็นมงกุฎสำหรับสวมศีรษะ เป็นพวงมาลัยสำหรับคล้องคอ พวงมาลัยแฟนซี หรือใช้สำหรับการจัดช่อดอกไม้ก็ทำได้เช่นกัน และโดยทั่วไปมาลัยดอกมะลิเหล่านี้ มักจะขายโดยเด็ก ๆ หรือชาวบ้านที่น่าสงสาร อยู่บริเวณภายนอกศาสนสถาน ตามท้องถนนและตามทางแยกต่าง ๆ จากผู้เร่ขายพวงมาลัยดอกมะลิจำนวนมาก เราสามารถพบเห็นได้ในทุก ๆ ที่ที่ใกล้แหล่งชุมชน มาลัยดอกมะลิมักจะถูกกำหนดไว้ให้เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของศาสนา ผู้คนจำนวนมากนิยมซื้อพวงมาลัยดอกมะลิเพื่อบูชานักบุญหรือพระผู้เป็นเจ้า และบนแทนบูชารูปเคารพที่ตนนับถือ ทุกวันนี้พวงมาลัยดอกมะลิมีไว้ใช้สำหรับมอบให้แก่แขกเหรื่อหรืออาคันตุกะเพื่อแสดงออกถึงการต้อนรับด้วยความจริงใจ มอบให้แด่บุคคลที่มีความสำคัญ ผู้ที่ได้รับเกียรติ และบุคคลที่มีความสำคัญเป็นพิเศษเพื่อแสดงออกถึงความปรารถนาดี หรืออาจจะเป็นเพียงแค่การนำมาประดับตกแต่งภายในบ้านหรือภายในรถยนต์เพื่อให้มีกลิ่นที่หอมสดชื่น ในบางครั้งจะใช้สำหรับโอกาสที่นักเรียน นักศึกษาสำเร็จการศึกษา หรือเป็นรูปแบบของการมอบของรางวัลเกียรติยศ ความเคารพนับถือและการได้รับเกียรติ ดอกมะลิจะถูกร้อยเรียงด้วยเชือกยาวหลายเมตร เพื่อใช้สำหรับประดับตกแต่งในงานพิธีการต่าง ๆ อย่างเช่น โอกาสการแถลงการณ์ ณ Malacanang Palace ซึ่งเป็นบ้านโดยตำแหน่งสำหรับประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ในเมือง San Miguel, Manila, Philippines. การจัดงานแต่งงาน การแสดงความยินดีในโอกาสต่าง ๆ หรือสำหรับพิธีการตัดริบบิ้น (ribbon-cutting) ตลอดจนการจินตนาการที่สร้างสรรค์ผลงานในเชิงศิลป์รูปแบบอื่น ๆ ถึงแม้ว่าดอกมะลิจะสามารถรับประทานได้แต่ก็มีเพียงส่วนน้อยที่จะใช้สำหรับปรุงเมนูอาหารคาว แต่อาจจะเป็นข้อยกเว้นสำหรับเมนูอาหารหวาน อย่างเช่น ไอศกรีมกลิ่นและรสชาติจากดอกมะลิ เช่นที่ Ilustrado Restaurant ในกรุงมะนิลา ซึ่งถือได้ว่าเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากของร้านนี้เลยที่เดียว

 

          Sampaguita เป็นชื่อของเพลงเต้นรำหรือที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในชื่อ ‘La Flor de Manila’ (The Flower of Manila) ในสมัยศตวรรษที่ 19 โดยในขณะนั้น Dolores Paterno (Dolores Paterno y Ignacio หรือ Dolores Paterno-Ignacio; ค.ศ. 1854-1881) นักดนตรีชาวฟิลิปปินส์ ผู้ซึ่งแต่งเพลงนี้ ในปี ค.ศ. 1879 ขณะที่ตอนนั้นเธอมีอายุเพียงแค่ 25 ปี เพลงดังกล่าวได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในเครือจักรภพฟิลิปปินส์ และปัจจุบันได้รับการยกย่องให้เป็นเพลงคลาสสิกที่แสนโรแมนติกเพลงหนึ่ง Sampaguita ชื่อของดอกมะลินี้ยังใช้เป็นชื่อของเพลง ที่มีชื่อว่า ‘El Collar de Sampaguita’ (Sampaguita Garland) อีกด้วย

          Sampaguita ยังเป็นชื่อที่หมายถึง Tessy Alfonso เธอเป็นนักร้องผู้หญิงชาวฟิลิปปินส์ ที่ร้องเพลงแนวเพลงร็อค เป็นทั้งนักดนตรีและนักแต่งเพลงซึ่งเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในช่วงปี ค.ศ. 1970-1980 โดยเธอยังได้ใช้ชื่อ ‘Sampaguita’ เป็นชื่ออัลบั้มชุดหนึ่งของเธอในปี ค.ศ. 1978

          นอกจากนั้นชื่อ Sampaguita ยังถูกใช้เป็นชื่อของบริษัทผลิตภาพยนตร์ของประเทศฟิลิปปินส์ในชื่อ ‘Sampaguita Pictures’ บริษัทได้ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1937 ที่ New Manila ใน Quezon City ประเทศฟิลิปปินส์ บริษัทได้ปิดกิจการลงในปี ค.ศ. 1980 พร้อมกับภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายเรื่อง ‘Alpha Kappa Omega Batch '81’ หรือที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในชื่อ ‘Batch '81’ หรือ ‘ΑΚΩ 81’ ด้วยผลงานความคลาสสิกของผู้กำกับอย่าง Mike de Leon's ซึ่งเป็นผลงานการผลิตร่วมกับอีก 2 บริษัท คือ บริษัท LVN Pictures และบริษัท MVP Pictures

 

          มะลินับได้ว่าเป็นดอกไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับชาวฟิลิปปินส์ ปัจจุบันประเทศฟิลิปปินส์ยังเป็นประเทศผู้ส่งออกดอกมะลิที่สำคัญประเทศหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความนิยมใช้ประโยชน์จากดอกมะลิอย่างกว้างขวาง ปริมาณความต้องการดอกมะลิทั้งภายในประเทศฟิลิปปินส์เอง และเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศนับวันจะยิ่งมีปริมาณที่มากขึ้น ทั้ง ๆ ที่มะลิเป็นพืชที่สามารถปลูกได้โดยทั่วไปในประเทศภูมิภาคอากาศแบบเขตร้อนชื้นบริเวณนี้เช่นกัน และไม่ว่าจะเป็นในช่วงฤดูที่ดอกมะลิให้ผลผลิตน้อยหรือช่วงฤดูมรสุม ซึ่งส่งผลให้ดอกมะลิมีราคาสูงขึ้นก็ตาม มะลิเป็นพืชต่างถิ่นที่ได้นำเข้าสู่ประเทศฟิลิปปินส์มาเป็นเวลานาน นานมากเสียจนไม่อาจสืบค้นหาข้อมูลดังกล่าวได้ นานมากเสียจนมีชื่อเรียกในภาษาพื้นเมืองที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน นานมากเสียจนในบางครั้งอาจนึกว่ามะลิก็เป็นหนึ่งในพืชพื้นถิ่นของฟิลิปปินส์อีกชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับ ดอกกระดังงา และดอกกล้วยไม้ Waling-waling หรือ กล้วยไม้Sander’s Vanda (Vanda sanderiana (Rchb.f.) Rchb.f.) ที่มีคุณประโยชน์อย่างแท้จริงต่อชาวฟิลิปปินส์และประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์

 

Sampaguita : Jasminum sambac (L.) Aiton

        นักพฤกษศาสตร์บางคนยอมรับว่ามะลิมีถิ่นต้นกำเนิดจากทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย บริเวณหุบเขาหิมาลัย (Himalayan valleys หรือ eastern Himalayan of Bhutan) ส่วนในบริเวณอื่น ๆ ที่เชื่อว่าน่าจะเป็นถิ่นต้นกำเนิดของมะลิซึ่งไกลจากอินเดียออกไปอย่างอียิปต์และเปอร์เซีย หรือประเทศอิหร่านในปัจจุบัน เหตุอันน่าเชื่อเช่นนั้น เนื่องจากชื่อสามัญในภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า ‘Jasmine’ ชื่อที่ได้รับมาจากคำว่า ‘Yasmeen’ ซึ่งหมายถึงดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม ในภาษาเปอร์เซีย แต่จากบันทึกของชาวจีนในยุคโบราณที่เกี่ยวข้องกับถิ่นต้นกำเนิดของมะลินั้น พวกเขาได้บันทึกไว้ว่า “มะลิมีถิ่นต้นกำเนิดอยู่ทางทิศตะวันออกของเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่ามะลิและพืชชนิดอื่น ๆ อีก 9 ชนิด ที่มีความใกล้เคียงกับมะลิ จะพบว่ามีการกระจายตัวของพืชเหล่านี้โดยทั่วไปในบริเวณแถบอาหรับและเปอร์เซีย ทั้งนี้เชื่อกันว่าน่าจะเกิดจากการนำเข้าไปเพื่อจุดประสงค์สำหรับการปลูกเลี้ยงโดยมนุษย์มากกว่าที่พืชเหล่านี้จะมีถิ่นกำเนิดและเจริญเติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติในบริเวณดังกล่าว จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่า แท้จริงแล้วถิ่นกำเนิดของมะลิคือที่ใด ถ้านำข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาเทียบเคียงและพิจารณาถึงลำดับของเหตุการณ์จะพบได้ว่า

          มะลินำเข้าสู่อียิปต์ก่อนสมัยราชวงศ์ที่ 21 ราวประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล

          จากหลักฐานประวัติศาสตร์ของประเทศจีนพบว่า ในสมัยราชวงศ์ซ่ง ราวปี ค.ศ. 960-1279 องค์จักรพรรดิได้ปลูกมะลิไว้ในบริเวณพระราชวัง เพื่อที่จะได้ทรงเพลิดเพลินกับกลิ่นที่หอมหวนของดอกมะลิเมื่อยามผลิดอกบาน

          ในช่วงศตวรรษที่ 15 หรือช่วงปี ค.ศ. 1401-1499 (ปี ค.ศ. 1400s) มะลิจะปลูกเพื่อถวายพระมหากษัตริย์ อย่างในอัฟกานิสถาน เนปาล และเปอร์เซีย หรือนี้อาจจะเป็นที่มาที่ชาวตะวันตกขนานนามดอกมะลิว่า “ราชาแห่งดอกไม้” (‘The King of Flowers’) มะลิหลายสายพันธุ์นิยมใช้สำหรับทำน้ำหอม ซึ่งได้พบเส้นทางที่ต้องผ่านแผ่นดิน ข้ามผืนทะเลไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยเริ่มต้นตั้งแต่บริเวณชายทะเลของอาหรับ เช่น เปอร์เซียและอินเดีย

          ข้ามทะเลแดง (Red Sea) เข้าไปยังอียิปต์ จนเข้ามาถึงยังดินแดนโดยรอบของทะเลอีเจียน (Aegean Sea) อย่างตุรกีและกรีซ และแพร่กระจายไปทั่วตามพื้นที่บริเวณรอบ ๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Sea)

          มะลิได้นำเข้าแอฟริกาผ่านทางอียิปต์ จากนั้นจึงได้นำเข้าไปยังประเทศในทวีปยุโรปที่ที่นิยมปลูกมะลิเพื่อเป็นไม้ดอกไม้ประดับจากอียิปต์ ผ่านเข้ามาทางแอลจีเรียและโมร็อกโค

          แขกมัวร์ (Moor : คนมุสลิมที่อาศัยในตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกา) ได้นำมะลิเข้ามายังยุโรปตะวันตกผ่านทางสเปนโดย ในปี ค.ศ. 1600 และเข้าไปยังฝรั่งเศสและอิตาลี ในเวลาต่อมาสหราชอาณาจักรได้นำเข้ามะลิหลังจากศตวรรษที่ 17

 

       ดอกมะลิแต่ดั้งเดิมได้รับความนิยมในวัฒนธรรมของประเทศในภูมิภาคตะวันออกมากกว่าประเทศในภูมิภาคตะวันตก แต่ในเวลาต่อมาไม่นานดอกมะลิก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากนานาประเทศในภูมิภาคตะวันตกอย่างแพร่หลายและอย่างรวดเร็ว ซึ่งโดยปกติดอกมะลิจะผลิบานในเดือนพฤษภาคมซึ่งชาวคริสต์โรมันคาทอลิกถือว่าเป็นเดือนของพระแม่มารี เป็นช่วงระยะเวลาที่ดอกมะลิจะผลิบานพร้อมกับความงดงามและสีขาวสะอาดอันบริสุทธิ์ จึงใช้ดอกมะลิเพื่อสร้างความเชื่อมโยงความรักของพระแม่มารี ในฐานะที่เป็นตัวแทนของความรักจากพระผู้เป็นเจ้า และเป็นดอกไม้ที่สามารถมองเห็นในภาพวาดทางศาสนาหลายแห่งในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการของชาวอิตาลี นอกจากนี้ความงดงามและกลิ่นอันหอมหวานของดอกมะลิยังเป็นแรงบันดาลใจสำหรับนักเขียน นักประพันธ์ ให้ได้สรรค์สร้างผลงานที่ทรงคุณค่ายิ่ง พวกเขาจึงได้ขนานนามดอกมะลิว่า “ดอกไม้ของกวี” (The Poet’s Flower) สำหรับในพิธีแต่งงานและเจ้าสาวมักจะติดช่อบูเก้ที่ทำจากดอกมะลิ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความปีติยินดีในวันสำคัญที่สุดวันหนึ่งในชีวิตของเธอ สำหรับคุณค่าของดอกมะลิในภูมิภาคตะวันออกก็คงมีเหตุและผลคล้ายคลึงกันกับชาวตะวันตก ด้วยความงดงามของดอกมะลิและกลิ่นหอมอันพริ้มเพราอันทรงเสนห์ ในวัฒนธรรมของประเทศตะวันออก ดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ เป็นสัญลักษณ์ของความปรารถนาทางจิตวิญญาณและความเชื่อความศรัทธาในศาสนาที่ตนเองนับถือ เป็นพันธุ์ไม้ที่มีอรรถประโยชน์ในหลายด้าน ตามคุณค่าที่มีอยู่ในตัวของมะลิโดยแท้จริง และคุณค่าเทียมที่มนุษย์พากันกำหนดและหยิบยกให้ ผู้คนจากต่างถิ่น ต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ที่มีความแตกต่างกันอย่างมากมาย แต่ความเป็นจริงโดยเนื้อแท้ของดอกมะลิที่แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่ใจต่อทุก ๆ คน นั้นมิได้ต่างกัน

       ราวกลางศตวรรษที่ 18 โดยอ้างถึง Carl Linnaeus (ค.ศ. 1707–1778) นักพฤกษศาสตร์ที่มีชื่อเสียงชาวสวีเดน ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่ได้เขียนอธิบายและให้ชื่อวิทยาศาสตร์ของมะลิว่า ‘Nyctanthes sambac L.’ และตีพิมพ์ลงในหนังสือของเขา Systema Naturae โดยนำออกเผยแพร่ครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1753 ในเวลาต่อมาปี ค.ศ. 1789 William Aiton (ค.ศ. 1731–1793) นักพฤกษศาสตร์ชาวสกอต เขาได้ศึกษา ทบทวน และจัดจำแนกพรรณไม้ชนิดนี้ใหม่ โดยเขาได้ย้ายมะลิจากสกุล Nyctanthes ไปอยู่ในสกุล Jasminum เพราะฉะนั้นชื่อวิทยาศาสตร์ของมะลิจึงถูกเปลี่ยนและใช้มาจนถึงเช่นในปัจจุบันว่า ‘Jasninum sambac (L.) Aiton’ และนอกจากนี้เขายังเป็นผู้บัญญัติชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า ‘Arabian Jasmine’ ซึ่งเกิดจากความเข้าใจผิดพลาดว่า มะลิชนิดนี้มีต้นกำเนิดในแถบประเทศอาหรับ

 

          มะลิเป็นพืชดอกที่จัดจำแนกอยู่ในสกุล Jasminum ในวงศ์ OLEACEAE โดยชื่อสกุล Jasminum รับมาจากคำว่า ‘Yasmeen’ ในภาษาเปอร์เซีย โดยคำดังกล่าวตามรูปศัพท์แล้วมีความหมายว่า “ของขวัญจากพระเจ้า” หรือ “ดอกไม้จากสรวงสวรรค์ ซึ่งได้อ้างถึงดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม นอกจากนี้ยังเป็นชื่อของหญิงสาวชาวเปอร์เซียอีกด้วย และคำว่า ‘yasmin’ ที่ได้รับผ่านมาจากภาษาอาหรับ (Arabia) โดยทั้งสองคำได้รับผ่านมาทางภาษาละตินอีกคำรบหนึ่ง

         ส่วนคำที่ใช้สำหรับระบุชื่อชนิดของมะลิชนิดนี้ sambac เป็นคำที่ได้รับมาจากภาษาละติน จากคำว่า ‘sambacus’ และ ‘zambacca’ ซึ่งคำทั้งสองคำนี้ ได้รับมาจากคำว่า ‘zambaq’ ในภาษาอาหรับอีกทอดหนึ่ง ซึ่งหมายความถึงดอกมะลิ (Jasmine) และน้ำมันหอมที่สกัดได้จากดอกมะลิชนิดต่าง ๆ แต่ถึงแม้ว่าชื่อสามัญในภาษาอังกฤษของมะลิจะใช้คำว่า ‘Arabian Jasmine’ เนื่องจากเกิดจากความผิดพลาดดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยเหตุและผลอันเชื่อได้ว่ามะลิไม่น่าจะมีต้นกำเนิดหรือเป็นพืชพื้นถิ่นในพื้นที่บริเวณแถบประเทศอาหรับ เนื่องจากลักษณะวิสัยและลักษณะของมะลิ ทั้งราก ลำต้น ใบ ดอก ผล และเมล็ด น่าจะมีความสอดคล้องอย่างเป็นเหตุเป็นผลที่เป็นไปได้ เนื่องจากมะลิน่าจะเป้นพืชที่มีความเหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะของภูมิอากาศแบบร้อนชื้นมากกว่าแบบแห้งแล้งอย่างในพื้นที่ของทางตะวันออกกลาง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมะลิก็สามารถปลูกได้โดยทั่วไปอย่างแพร่หลาย และมะลิยังสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของในหลายพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

 

          มะลิเป็นไม้เลื้อยที่มีลักษณะคล้ายไม้พุ่มหรือเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย (scandent shrub) ใบสีเขียวเข้มเป็นมันเงา และที่สำคัญที่สุด เป็นดอกไม้สีขาวสะอาด บริสุทธิ์ ดอกสีขาวราวกับหิมะที่ถูกเคลือบด้วยเห็นเป็นมันวาว ดอกไม้ที่เพียบพร้อมไปด้วยความงดงามและกลิ่นที่หอมหวาน มีกลิ่นหอมแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะหอมมากยิ่งขึ้นในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ดอกมะลิจะผลิบาน และถือได้ว่าดอกมะลิชนิดนี้มีกลิ่นที่หอมแรงมากกว่าดอกมะลิชนิดอื่นใด ตามความเป็นจริงแล้วดอกมะลิจะเปลี่ยนไปเป็นสีโทนชมพู-ม่วง เมื่ออายุของดอกแก่มากขึ้น และแห้งเหี่ยวร่วงโรยไปในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน มะลิเจริญเติบโตง่ายในทุก ๆ ที่ที่มีความชื้น แต่ต้องไม่ใช่พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง สามารถปลูกได้ดีทั้งในที่ร่มรำไรหรือกลางแจ้ง พืชชนิดนี้ขยายพันธุ์ได้ง่าย โดยใช้วิธีการปักชำกิ่ง โน้มกิ่ง ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง และเสียบยอด

 

สายพันธุ์ที่มีความสำคัญของมะลิกลุ่ม Sambac

1. Jasminum. sambac (L.) Aiton ‘Maid of Orlean’

          ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกันกับที่เจ้าหญิง Victoria Ka’iulani แห่งฮาวายพระราชทานชื่อว่า ‘Pikake’ (โดยชื่อ Pikake จะใช้เรียกเฉพาะมะลิสายพันธุ์นี้เพียงสายพันธุ์เดียวเท่านั้น) และเป็นสายพันธุ์ที่ชาวฟิลิปปินส์อ้างถึงในชื่อว่า ‘Sampaguita’ ดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศฟิลิปปินส์ ดอกมะลิสายพันธุ์นี้ประกอบด้วยกลีบดอกรูปไข่ จำนวน 5 กลีบ หรือมากกว่าและกลีบดอกมีเพียงชั้นเดียว นอกจากนี้มะลิสายพันธุ์ดังกล่าวยังเป็นที่รู้จักในชื่ออื่น ๆ อาทิ

                               ภาษาฮินดี : ‘Mogra’ (मोगरा), ‘Motiya’ (मोतिया) และ ‘Bela’ (बेला)

                              ภาษาเตลูกู : Malli

                               ภาษาทมิฬ : kodimalli, และ Kodi mulli (கொடி மல்லி)

 ภาษาของรัฐมณีปุระ (Manipuri) : Jati জাতী পুশ্প pushpa

และเป็นมะลิสายพันธุ์ที่มีกลิ่นหอมแรงที่สุดในมะลิกลุ่ม Sambac (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูใบไม้ผลิในประเทศภูมิอากาศเขตอบอุ่น และฤดูร้อนในประเทศภูมิอากาศเขตร้อน) ดอกมะลิสายพันธุ์นี้สามารถรับประทานได้ เช่น ใช้สำหรับทำชาดอกมะลิชงดื่ม ปรุงแต่งกลิ่นรสอาหาร สกัดน้ำมัน และสามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากดอกมะลิได้ ปลูกได้ดีทั้งในที่ร่มรำไรหรือกลางแจ้ง

 

2. J. sambac (L.) Aiton ‘Belle of India’

          หรือในภาษาฮินดี คือ Mogra (मोगरा) และ Madan (मदन) ซึ่งหมายถึง “ความหวังอันสูงส่ง” และเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่รับประทานได้ นิยมทำเป็นชาดอกมะลิชงดื่ม ดอกมีกลิ่นหอมแรง สามารถปลูกได้ดีทั้งในที่ร่มรำไรหรือกลางแจ้ง ในส่วนของใบมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันอย่างมากกับสายพันธุ์ ‘Maid of Orlean’ ซึ่งจะสามารถแยกความแตกต่างได้ก็ต่อเมื่อมะลิผลิดอกบานแล้ว กล่าวคือ

          ถ้าเป็นมะลิสายพันธุ์ ‘Maid of Orlean’ กลีบดอกรูปไข่ถึงรูปรี ค่อนข้างสั้น ป้อม มีกลีบดอกเพียงชั้นเดียว

          ถ้าเป็นมะลิสายพันธุ์ ‘Belle of India’ กลีบดอกรูปทรงรี และกลีบดอกยาวกว่า กลีบดอกมีมากกว่า 1 ชั้น

 

3. J. sambac (L.) Aiton ‘Grand Duke of Tuscany’

          ในชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘Rose Jasmine’ ในภาษาฮินดี ‘Butt Mogra’ (बत मोगरा) ดอกมะลิสายพันธุ์นี้มีกลีบดอกซ้อน มีกลีบดอกจำนวนมาก กลีบดอกหลายชั้น รูปทรงของดอกคล้ายดอกกุหลาบดอกเล็ก ๆ สีขาว เป็นสายพันธุ์ที่มีกลิ่นหอมแรงที่สุดในมะลิกลุ่ม Sambac ส่วนของใบแตกต่างจากสองสายพันธุ์ที่ได้กล่าวมาแล้วเพียงเล็กน้อย สายพันธุ์นี้รับประทานได้เช่นกัน โดยใช้สำหรับปรุงกลิ่นหอมในชาดอกมะลิ (Mabberley, 1997)

         และเชื่อว่าน่าจะเป็นสายพันธุ์เดียวกันกับมะลิที่ชื่อว่า “ติณสูล” (ภาษาพื้นเมืองที่ใช้ในประเทศอินเดีย) ซึ่งหมายถึง “มะลิที่มีกลีบดอกซ้อน” ดอกมะลิที่มีกลีบดอกซ้อนจะใช้สำหรับบูชาพระนารายณ์หรือพระวิษณุ เทพเจ้าองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เนื่องจากดอกมะลิซ้อนเป็นดอกไม้ประจำพระองค์ โดยในพิธีสรงสนานเทวรูปพระนารายณ์จะใช้ดอกมะลิซ้อนนี้ลอยในน้ำสำหรับที่จะใช้ทำพิธีสรงน้ำ ร่วมกับใบมะตูมหรือ Bengal quince (Aegle marmelos (L.) Correa ex Roxb.) และหญ้าแพรกหรือ Scutch grass (Cynodon dactylon (L.) Pers.) (ส. พลายน้อย, 2554) หรือเป็นสายพันธุ์หนึ่งที่ในหนังสือ “มะลิในเมืองไทย” ของ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ระบุชื่อสายพันธุ์ว่า J. sambac (L.) Aiton ‘Mali Son’ (ปิยะ, 2556) และนอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่มีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมากกับสายพันธุ์นี้คือ

 

4. J. sambac (L.) Aiton ‘Grand Duke of Tuscany Suprema’

          เพียงแต่มีขนาดของดอกที่ใหญ่กว่า และขนาดของใบที่ยาวกว่ามะลิสายพันธุ์ ‘Grand Duke of Tuscany’ มะลิทั้งสองสายพันธุ์นี้ สามารถปลูกได้ดีทั้งในที่ร่มรำไรหรือกลางแจ้ง

 

5. J. sambac (L.) Aiton ‘Mysore Mulli’

          เป็นสายพันธุ์ดอกมะลิที่มีความคล้ายคลึงกับสายพันธุ์ ‘Belle of India’ เพียงแต่กลีบดอกของมะลิสายพันธุ์นี้จะสั้นกว่า ดอกมีกลิ่นหอม สามารถปลูกได้ดีทั้งในที่ร่มรำไรหรือกลางแจ้ง

 

6. J. sambac (L.) Aiton ‘Arabian Nights’

          ดอกมะลิมีกลิ่นหอมแรง และเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่สามารถนำมารับประทานได้ โดยนิยมทำเป็นชาดอกมะลิชงดื่ม เป็นมะลิสายพันธุ์ที่ควรปลูกในที่ร่มรำไร

 

7. J. sambac (L.) Aiton ‘Mali Chat Phikun’

        มะลิฉัตรพิกุล ตามประวัติเชื่อว่าน่าจะกลายพันธุ์มาจากมะลิซ้อนมาเป็นเวลานานแล้ว เนื่องจากวงกลีบดอกของดอกมะลิสายพันธุ์นี้จะออกซ้อนกันเป็นชั้น ๆ คล้ายดอกพิกุล (ปิยะ, 2556) หรือสายพันธุ์มะลิฉัตร ‘Mali Chat’ เป็นดอกมะลิสายพันธุ์หนึ่งที่คนไทยในบางพื้นที่เรียกกันว่า “มะลิถอด” เนื่องจากวงกลีบดอกของดอกมะลิสายพันธุ์นี้จะออกซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ดูคล้ายกับฉัตรเช่นเดียวกัน ซึ่งวงกลีบดอกในแต่ละชั้นสามารถที่จะถอดออกจากกันได้ ดอกมีกลิ่นหอมแรง และเป็นสายพันธุ์ที่หายากชนิดหนึ่ง วิธีการปลูกเลี้ยง และดูแลรักษาถือได้ว่ายากที่สุดในบรรดาสายพันธุ์มะลิในกลุ่ม Sambac มะลิสายพันธุ์นี้ควรปลูกในที่ร่มรำไร

(John Minton, 2014)

 

เรื่องราวต่าง ๆ ของดอกมะลิ หรือ Sampaguita ในนานาประเทศจะเป็นเช่นไร เชิญติดตามตอนต่อไปครับ เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ 9 (Ep. 3/4) 

กวีศิลป์ คำวงค์

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย