เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๙ (Ep. 3/4)

  • 15/03/2017
  • จำนวนผู้ชม 4,057 คน

เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๙
(Ep. 3/4)

มะลิ ดอกไม้ประจำชาติของฟิลิปปินส์

Sampaguita is the National Flower of Philippines

 

สื่บเนื่องจากเรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๙ (Ep. 2/4) Sampaguita ในฐานะของดอกไม้ประจำชาติของฟิลิปปินส์ และเรื่องราวการใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ของชาวฟิลิปปินส์แล้ว ครานี้ลองเปรียบเทียบการใช้ประโยชน์จากดอกมะลิจากนานาประเทศ ครับผม

 

มะลิ การใช้ประโยชน์จากนานาประเทศ

พืชสมุนไพร

          โดยอ้างถึง Carl Linnaeus (ค.ศ. 1707–1778) นักพฤกษศาสตร์ที่มีชื่อเสียงชาวสวีเดน ได้เขียนบันทึกไว้ว่า ชาวพื้นเมืองของประเทศอินเดียจะใช้ใบอ่อนของมะลิและดอกมะลิ โดยผสมกับข้าว ใช้เป็นยาพอกสำหรับแผลที่แห้งจนสะเก็ดหลุดออกแล้ว และผิวอื่น ๆ ที่เป็นแผลนอกจากนี้มะลิยังมีสรรพคุณที่ใช้สำหรับเป็นยาสมุนไพร อาทิ

          - รากมะลิ ชาวจีนใช้สำหรับรักษาอาการปวดหัว นอนไม่หลับ และอาการปวดเนื่องจากข้อต่อเคล็ดขัดยอกและกระดูกหัก พืชในสกุล Jasminum หลายชนิดถูกใช้สำหรับการรักษาโรคมะเร็ง

          - ใบอ่อนของมะลิ ชาวเกาะบอร์เนียวจะนำมาต้มน้ำดื่มใช้สำหรับรักษาโรคนิ่ว และรากมะลิต้มน้ำดื่มใช้สำหรับรักษาโรคเบาหวาน

          - ดอกมะลิ ชาวจีน ชาวอาหรับ และชาวอินเดีย ใช้สำหรับเป็นยาสมุนไพรเพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ เนื่องจากมีกลิ่นหอมแรง เข้มข้น และกลิ่นหอมอันมีเสน่ห์ที่เย้ายวนมากกว่าดอกมะลิชนิดอื่นใด ดอกมะลิที่ถูกทำให้แห้งแล้วยังใช้เป็นยาสมุนไพรซึ่งมีสรรพคุณสำหรับการบำรุงเกี่ยวกับหัวใจ (David & Suchart, 2007) และมีรายงานว่าดอกมะลิมีคุณสมบัติที่ทำให้เกิดอาการชา

          - ในประเทศมาเลเซีย ชาว Orang Assumption Lee ในรัฐ Perak นำใบอ่อนของมะลิแช่ในน้ำเย็น สำหรับดื่มรักษานิ่วในถุงน้ำดี ส่วนรากมะลินำมาต้มน้ำดื่มรักษาโรคเบาหวาน

          - น้ำมันจากดอกมะลิสามารถใช้ผสมในครีมหรือโลชันสูตรพื้นฐานเพื่อใช้สำหรับผิวแห้งหรือผิวมัน และผิวที่อ่อนโยนแพ้ง่าย เนื่องจากมีตัวยาสำคัญเช่นเดียวกับการรักษารอยแตกลายของผิวหนังและลอยแผลเป็นได้

          - Vapor therapy หรือการบำบัดด้วยไอน้ำ และน้ำมันจากดอกมะลิสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมในน้ำมันนวดหรือทำให้เจือจางเพื่อผสมสำหรับการอาบน้ำ จะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ติดสารเสพติด ซึมเศร้า การพักฟื้นภายหลังจากการคลอดลูก การผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ได้รับการบาดเจ็บ อาการไอ และการผ่อนคลายความตึงเครียด

          - Aroma-therapists หรือกลิ่นหอมบำบัด พบว่ากลิ่นจากดอกมะลิเป็นยาชนิดกล่อมประสาท และเป็นสมุนไพรเพื่อใช้สำหรับผ่อนคลายจากอาการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า

 

น้ำมันหอมจากดอกมะลิ

        น้ำมันหอมระเหยของดอกมะลิจะมีความหวาน แปลกใหม่และหอมหวนตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นของดอกไม้ และน้ำมันจะมีสีส้มเข้มถึงสีน้ำตาล โดยดอกมะลิที่จะใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับทำน้ำมันหอมระเหยจะต้องเลือกเก็บดอกมะลิอย่างพิถีพิถัน จากมะลิที่ได้รับการปลูกและมีการดูแลรักษาที่มีคุณภาพ ประเทศฝรั่งเศส อิตาลี โมร็อกโค อียิปต์ จีน ญี่ปุ่น และตุรกี เป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิที่ดีที่สุด น้ำมันหอมระเหยจากกลิ่นที่หอมหวานของดอกมะลินั้นเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีว่าเป็นหนึ่งของกลิ่นหอมที่หรูหราอันทรงคุณค่า และอย่างแน่นอนเมื่อเป็นกลิ่นหอมที่ได้รับความนิยมชมชื่นกันเป็นอย่างมาก ก็ทำให้มีราคาแพงมากที่สุดชนิดหนึ่งเช่นกัน ผลิตภัณฑ์น้ำหอมที่ได้จากดอกมะลิเป็นส่วนประกอบหลักอย่าง

          - แบรนด์น้ำหอมที่เก่าแก่ของอังกฤษใช้ชื่อน้ำหอมว่า ‘Night Scented Jasmine’

          - แบรนด์น้ำหอมชั้นนำของอังกฤษอย่างแบรนด์ Ormonde Jayne ใช้ชื่อน้ำหอมว่า ‘Sampaguita’

          - แบรนด์น้ำหอมในอเมริกาอย่าง Ava Luxe ใช้ชื่อน้ำหอมว่า ‘Pikake Lei’ และ

          - แบรนด์ Pacifica ใช้ชื่อน้ำหอมว่า ‘Waikiki Pikaki’

ซึ่งดอกมะลิที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ J. sambac (L.) Aiton เป็นวัตถุดิบที่ดีสำหรับการใช้ผลิตน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิ เนื่องจากได้น้ำมันที่มีคุณภาพ และมีกลิ่นหอมมากกว่าดอกมะลิชนิดอื่นใด ปัจจุบันจึงนิยมปลูกมะลิชนิดดังกล่าวกันอย่างแพร่หลายเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมน้ำหอมอย่างต่อเนื่อง และมะลิอีกชนิดคือ J. officinale L. ก็ได้รับความนิยมและยังคงปลูกเพื่อจุดประสงค์เช่นเดียวกัน แม้พืชในสกุล Jasminum จะมีจำนวนมากว่า 200 ชนิด และมีจำนวนสายพันธุ์นับ 1,000 กว่าสายพันธุ์ แต่ก็มีดอกมะลิเพียง 2 ชนิดนี้เท่านั้นที่นิยมนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับความหอมจากกลิ่นของดอกมะลิ (Mabberley, 1997)

          ในยุคแรก ๆ ชาวยุโรป นิยมใช้ดอกมะลิสำหรับเป็นส่วนผสมในน้ำหอมฝรั่งเศส ในช่วงตอนต้นของศตวรรษที่ 16 กลิ่นหอมของน้ำหอมที่ใช้ดอกมะลิเป็นส่วนประกอบนั้น สำหรับให้ความรู้สึกที่ซับซ้อน ความลุ่มหลง ความลึกลับ และความหรูหราของกลิ่นดอกมะลิที่ดีเลิศ อย่าง Bvlgari’s Jasmin Noir ในขณะที่ Donna Karan’s Essence Jasmine จะทำให้คุณเข้าถึงความเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น และนอกจากนี้คุณจะต้องชื่นชอบ Nasomatto’s Nuda อีกด้วย (Naheed Shoukat Ali, 2011)

             ในประเทศอิตาลี จะใช้ดอกมะลิชนิด Casablanca Jasmine ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ‘J. officinalle L.’ หรือที่เรียกว่า ‘Spanish Jasmine’ เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตน้ำหอม โดยเริ่มปลูกตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1692

 

กลิ่นหอม และรสชาติรับประทานได้

          ดอกมะลิและสายพันธุ์ดอกมะลิในกลุ่ม Sambac บางสายพันธุ์รับประทานได้ สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารหวานได้อย่างหลากหลายเมนู เช่น ขนมหวานเพื่อแต่งกลิ่นหอมของดอกมะลิ ปรุงรสไอศกรีมให้ได้ความหอมหวาน และในชาจีนดอกมะลินิยมใช้เป็นส่วนประกอบหลักสำหรับการผลิตชามะลิ หรือ Jasmine tea (茉莉花茶)

           ชาดอกมะลินิยมดื่มกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยกล่าวว่าการดื่มชาดอกมะลินั้นจะมีพลังอำนาจทางจิตวิญญาณ ชาดอกมะลิถูกทำด้วยวิธีอันชาญฉลาด โดยการนำใบชามาเก็บไว้กับดอกมะลิ กลิ่นที่หอมอย่างรุนแรงของดอกมะลิจะเข้าไปจับกับใบชาแล้ว ซึ่งส่งเสริมให้ชาดอกมะลิที่ชงดื่มมีรสอร่อยและมีความหอมหวานมากยิ่งขึ้น

        ในประเทศจีนดอกมะลิถูกนำมาใช้ในกรรมวิธีและเป็นส่วนประกอบในชาดอกมะลิ โดยจะใส่ดอกมะลิเข้าไปรวมกับใบชาที่แห้งแล้ว เพื่อที่จะปรุงกลิ่นและเพิ่มรสชาติให้กับใบชา ในกระบวนการดังกล่าวต้องทำซ้ำอย่างน้อยสองครั้งหรือมากกว่านั้น เพื่อให้ได้รสชาติที่มีความเข้มข้น และเป็นชาชั้นสูงที่มีคุณภาพอย่างยอดเยี่ยม ชาวจีนจะใช้ดอกมะลิที่ผ่านการอบให้แห้งแล้วสำหรับการแต่งกลิ่นและรสชาติในชามะลิ

         ทว่าย้อนกลับไปประมาณนับ 1,000 ปี สำหรับการทำชามะลิในราชวงศ์ซ่ง ที่มีความเกี่ยวข้องกับจังหวัด Fujian ในทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน ส่วนเรื่องเทคนิคการปรุงกลิ่นสำหรับชาเขียวในสมัยราชวงศ์ซ่ง ประกอบด้วยใบชา 2-3 ใบ ที่ยังไม่ได้ผ่านการหมัก ผสมกับดอกมะลิทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง ในช่วงเวลากลางคืน น้ำมันหอมระเหยจากทั้งในใบชา และดอกมะลิจะผสมคละเคล้ากัน เมื่อนำไปชงชาดื่มก็จะได้ชาเขียวดอกมะลิที่มีทั้งกลิ่นและรสชาติที่หอมหวาน

         ความหอมของดอกมะลิไม่เพียงใช้แต่เฉพาะชาเท่านั้น ในภูมิภาคเอเชียได้นิยมน้ำลอยดอกมะลิหรือกลิ่นของดอกมะลิมาใช้สำหรับปรุงอาหารหรือขนมหวานได้เป็นอย่างดีเช่นกัน น้ำฝนลอยดอกมะลิที่คนไทยนิยมนำมาดื่มเพื่อช่วยให้คลายร้อนที่มีมาในแต่ครั้งอดีต เนื่องจากดอกมะลิมีสรรพคุณที่มีฤทธิ์เย็น น้ำลอยดอกมะลิในเมนูอาหารอย่างข้าวแช่ ตลอดจนขนมหวานต่าง ๆ ที่อาจใช้ทั้งน้ำลอยดอกมะลิ น้ำเชื่อมและน้ำกะทิลอยดอกมะลิเป็นส่วนประกอบสำหรับการปรุงแต่งกลิ่นของขนมหวานให้หอมเย็นหวานสดชื่นน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น

 

          ตำรับ Grand Duke of Tuscany's famous jasmine chocolate

มีส่วนประกอบดังนี้

- เมล็ดโกโก้คั่ว (Theobroma cacao L.) บดให้ละเอียด จำนวน 4.5 กิโลกรัม

- ดอกมะลิสด

- น้ำตาลทรายขาว 3.6 กิโลกรัม

- ฝักวานิลา (Vanilla sp.) 85 กรัม

- อบเชย (Cinnamomum sp.) 115-170 กรัม

- Ambergris 2.5 กรัม

วิธีทำ

ใส่ผงโกโก้ลงไปในภาชนะผสม วางสลับชั้นด้วยดอกมะลิ ทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง จากนั้นจึงผสมให้เข้ากัน และทำเช่นเดิมนี้อีก 10-12 ครั้ง โดยวิธีการเพิ่มชั้นของส่วนผสมไปตามลำดับ เพื่อให้ผงโกโก้สามารถดูซับเอากลิ่นหอมจากดอกมะลิ เมื่อครบแล้วจึงใส่ส่วนผสมอื่น ๆ และบดผสมให้เข้ากันโดยใช้โกร่งหินที่อุ่น ๆ สำหรับใช้บด (metate : โกร่งหินสำหรับใช้บด) แต่ถ้าโกร่งหินบดร้อนจนเกินไปจะทำให้กลิ่นซึ่งมีความหอมระเหยไป

 

และนอกจากนี้ยังมีวิธีการใช้ประโยชน์จากดอกมะลิที่ดูจะผิดแผกออกไปซักหน่อย ที่เห็นจะเป็นการนำดอกตูมของมะลิสายพันธุ์ J. sambac (L.) Aiton ‘Grand Duke of Tuscany’ สำหรับใช้เป็นอาหารเลี้ยงกระต่ายและปลาคู้ (Pacu fish) และเห็นจะแปลกที่สุดก็คือ มีข้อมูลระบุไว้ว่าเจ้าแมวเหมียวก็ชอบกินดอกมะลิสายพันธุ์ดังกล่าวเป็นอาหารเช่นเดียวกัน พวกมันคงจะชื่นชอบเมนูอาหารชนิดนี้เป็นอย่างมาก เพราะคงทั้งหอมทั้งหวาน และเย็นสบายท้องเป็นแน่

 

วิถีวัฒนธรรมนานาชาติ

           ในประเทศอังกฤษ Duke Casimo de Medici (ค.ศ. 1519-1574) 2nd  Duke of Florence และ 1st Grand Duke of Tuscany เป็นผู้นำดอกมะลิสีขาวชนิด
J. sambac (L) Aiton เข้ามาปลูกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1665 และในปี ค.ศ. 1920 Richard Neville Parker (ค.ศ. 1884-1958 ) นักพฤกษศาสตร์และวิศวกรป่าไม้ชาวอังกฤษได้ค้นพบมะลิชนิดใหม่และให้ชื่อว่า ‘J. parkeri Dunn’ ที่บริเวณ Chamba, Himachal Pradesh ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย มะลิชนิดนี้ได้ถูกส่งไปยังสวนพฤกษศาสตร์คิว (Kew Botanical Garden) และปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับในประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 1923 นอกจากนี้ยังรู้จักกันเป็นอย่างดีในเวลาต่อมาในชื่อ ‘Dwarf jasmine’

        ในรัฐฮาวายดอกมะลิเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘Pikake’ และใช้ชื่อดังกล่าวนี้สำหรับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกลิ่นหอม โดยชื่อ Pikake ได้มาจากภาษาฮาวายที่หมายถึงนกยูง (Peacock) เนื่องจากดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่ทรงโปรดปรานของเจ้าหญิง Victoria Ka’iulani (ค.ศ. 1875–1899) องค์หญิงรัชทายาทแห่งราชอาณาจักรฮาวายในขณะนั้น เจ้าหญิงผู้ทรงเลี้ยงและโปรดปรานนกยูงเป็นอันมากเช่นเดียวกัน จึงโปรดให้ออกเสียงชื่อมะลิในภาษาฮาวายว่า ‘pea-cock-kay’ ในคำว่า ‘Pikake’ ส่วนดอกมะลิชาวฮาวายนิยมนำมาร้อยเป็นพวงมาลัยที่เรียกว่า ‘Pikake lei’ เพื่อใช้สำหรับงานเฉลิมฉลองหรือมอบเป็นของขวัญเพื่อแสดงออกซึ่งความรักที่มีให้กัน

            ในประเทศจีนนิยมใช้ดอกมะลิกันเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวจีนนับถือว่าดอกมะลิเป็นดอกไม้มงคลชนิดหนึ่ง ชาวจีนเรียกดอกมะลิว่า ‘Mo Li Hua’ (茉莉花) ซึ่งมีความหมายว่า “หญิงสาวที่มีความสวยงามและมีเสน่ห์”
         และนอกจากนี้ชื่อของดอกมะลิยังใช้เป็นชื่อของเพลงพื้นบ้านอย่าง ‘Mo Li Hua’ (ม๊วดหลีฮัว) ซึ่งถูกเซ็นเซอร์โดยรัฐบาลจีน (People's Republic of China) เนื่องจากเพลงดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในจีนเมื่อปี ค.ศ. 2011

           ในประเทศปากีสถาน มะลิชนิด J. officinale L. หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘Chambeli’ หรือ ‘Yasmin’ ซึ่งดอกมะลิชนิดนี้ใช้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติของ
ประเทศปากีสถาน

           ในประเทศโอมานดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่มีความสำคัญในวันเกิดปีแรก ๆ สำหรับเด็ก ๆ ในขณะที่กำลังร้องเพลง ‘Hol Hol’ เด็ก ๆ จะใช้ดอกมะลิโปรยบนศีรษะของกันและกัน และนอกจากนี้ดอกมะลิที่มีกลิ่นหอมจะถูกห่อด้วยใบขนาดใหญ่ของต้นหูกวางหรือ Indian almond (Terminalia catappa L.) และเย็บเข้ารวมกันกับแผ่นใบของอินทผลัม (Phoenix sp.) เพื่อจำหน่าย

          ในประเทศอินเดียดอกมะลิจะใช้ในงานแต่งงาน ซึ่งเจ้าสาวจะประดับดอกมะลิบนผมของพวกเธอ ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความงดงามและความรัก และการประดับตกแต่งเนื่องในโอกาสต่าง ๆ มาลัยดอกไม้ที่ถูกเรียงร้อยด้วยดอกมะลิสีขาวสะอาดบริสุทธิ์ สลับเหลื่อมลายกับดอกกุหลาบสีแดงสด ใช้สำหรับเป็นพวงมาลัยบูชาของผู้ที่จะไปแสวงบุญยังนครศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมอย่างนครเมกกะ (Mekkah) หรือใช้สำหรับการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เมื่อเด็ก ๆ เริ่มต้นเรียนคัมภีร์อัลกุรอานบทแรก พ่อแม่และญาติ ๆ ของเขาจะมอบพวงมาลัยที่ร้อยจากดอกมะลิและดอกกุหลาบ เพื่อแสดงออกถึงความชื่นชมยินดีและอวยพรให้เขาโชคดี และเช่นเดียวกันเมื่อเขาสำเร็จการศึกษาดังกล่าวแล้วเขาก็จะได้รับอีกครา ใช้สำหรับความเศร้าโศกที่เกิดขึ้น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปจากโลกใบนี้ พวงมาลัยดอกมะลิจะถูกวางไว้กับร่างที่ไร้วิญญาณ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์สิ่งสุดท้ายเพื่อเป็นการอำลา
        มะลิบางสายพันธุ์ใช้สำหรับเป็นของถวายบูชาในศาสนา เป็นสัญลักษณ์แห่งความปรารถนาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ยังใช้สำหรับบนบานสานกล่าวหรือแก้บนในพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยทางศาสนาฮินดูและศาสนาอิสลามจะเรียกดอกมะลิว่า ‘चमेली’ (Jasmine) ซึ่งหมายถึง “กลิ่นหอมหวานแห่งความรัก” และชาวฮินดูจะร้อยดอกมะลิเป็นพวงมาลัยคล้องคอ เพื่อมอบให้สำหรับแขกผู้มีเกียรติ (Naheed Shoukat Ali, 2011)

         ในประเทศศรีลังกาดอกมะลิรู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่อ ‘Pichaha’ หรือ ‘Gaeta Pichcha’ นอกจากนี้ยังมีชื่อที่ใช้ในเอกสารเก่า ๆ อาทิ ‘Sithapushpa’ และ ‘Katarolu’ ดอกมะลิเป็นดอกไม้สำคัญชนิดหนึ่งที่ชาวศรีลังกานิยมใช้ในพิธีการทางพระพุทธศาสนา และร้อยมาลัยดอกมะลิใช้สำหรับพิธีการในโอกาสต่าง ๆ

           ในประเทศอินโดนีเซียนอกจากดอกมะลิจะได้รับการยกย่องในฐานะดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติชนิดหนึ่งแล้ว ยังถือได้ว่าดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่มีความสำคัญมากที่สุดในพิธีการแต่งงานของชาวพื้นเมืองของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเกาะชวา และดอกมะลิยังเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของเมืองหลวงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใน Syria ประเทศอินโดนีเซีย อย่าง Damuscus และถูกเรียกขานนามว่า ‘City of Jasmines’ ชาวอินโดนีเซียนิยมใช้ดอกมะลิในงานพิธีกรรม พิธีการ และการประดับตกแต่งเนื่องในโอกาสต่าง ๆ ดอกมะลินับได้ว่ามีความผูกพันกับวิถีชีวิตของพวกเขาตั้งแต่อยู่ท้องของผู้เป็นแม่และจวบจนวันสุดท้ายแห่งชีวิต

          ในประเทศกัมพูชาดอกมะลิใช้สำหรับถวายพระพุทธเจ้า ระหว่างช่วงฤดูที่ดอกมะลิบานซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ชาวกัมพูชาจะเหลาไม้ไผ่เป็นเส้นเล็ก ๆ (คล้ายเข็มขนาดยาวที่ใช้สำหรับร้อยพวงมาลัย) นำดอกมะลิที่ยังตูมอยู่มาเรียงร้อยเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

           และในประเทศไทยดอกมะลิซ้อนใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความรักที่บริสุทธิ์ของผู้เป็นแม่ที่มีต่อลูก ซึ่งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้บัญญัติให้ดอกมะลิซ้อนเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่แห่งชาติ วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี และดอกมะลิชนิดอื่น ๆ ยังใช้สำหรับงานศิลปหัตถกรรม งานฝีมือ การร้อยพวงมาลัยดอกมะลิสำหรับถวายเป็นพุทธบูชา บูชาพระสมเด็จ (พระเครื่อง) เพื่อความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ ทำน้ำกระสายยา และยังถือเคล็ดว่าผู้หญิงที่มีประจำเดือนห้ามเข้าไปใกล้ต้นมะลิที่กำลังตูมดอก เพราะจะทำให้มะลิต้นนั้นแห้งเหี่ยวเฉาหรือเป็นโรคเป็นแมลงและตายไปในที่สุด เนื่องจากถือว่าดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่มีความสำคัญ เป็นดอกไม้ที่สะอาด บริสุทธิ์ เป็นดอกไม้ที่มีคุณค่าสูงส่ง ส่วนในสภาวะขณะที่ร่างกายของสตรีมีรอบเดือนนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่สะอาด ซึ่งความเชื่อดังกล่าวน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในประเทศอินเดีย (ส. พลายน้อย, 2554)

 

จากหลาย ๆ ตอน ของเรื่องราวต่าง ๆ ของดอกมะลิ หรือ Sampaguita ดูจะลงตัวและค่อนข้างสมบูรณ์แบบ แต่ทว่าจะเป็นเรื่องอันใดนั้น คงต้องรอติดตามบทสรุปท้ายที่สุดในเรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ 9 (Ep. 4/4) 

กวีศิลป์ คำวงค์

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย