เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๙ (Ep. 4/4)

  • 15/03/2017
  • จำนวนผู้ชม 3,432 คน

เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๙
(Ep. 4/4)

มะลิ ดอกไม้ประจำชาติของฟิลิปปินส์

Sampaguita is the National Flower of Philippines

 

บทสรุปสุดท้ายในตอนจบของเรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ 9 (Ep. 4/4) ฝากบทความตอนนี้ไว้เพื่อพิจารณาครับ

 

ข้ออันควรพิจารณา ดอกมะลิหรือดอกพุดแก้ว?

         จากการสืบค้นข้อมูลสำหรับการเรียบเรียงบทความเรื่อง “เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ 9” ที่ตอนนี้ได้เล่าเรื่องราวถึงดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศฟิลิปปินส์ โดยได้อาศัยข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ส่วนใหญ่ได้ระบุว่าดอกไม้ประจำชาติของฟิลิปปินส์คือ ‘Sampaguita Jasmine’ หรือ “ดอกพุดแก้ว” โดยบอกแค่ลักษณะของดอกไม้ชนิดนี้เพียงสั้น ๆ ว่า

ดอกมีสีขาวกลีบดอกเป็นรูปดาว มีกลิ่นหอม บานส่งกลิ่นในตอนกลางคืน ถือเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ เรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมตน
รวมถึงความเข้มแข็งอีกด้วย เคยถูกนำมาใช้เฉลิมฉลองในตำนานเรื่องเล่ารวมทั้งบทเพลงของฟิลิปปินส์ด้วย เช่นกัน

และรูปภาพของดอกไม้ที่ใช้ประกอบในบทความต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นชนิดพันธุ์ไม้ที่ต่างกันออกไป ซึ่งโดยแท้จริงแล้วดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศฟิลิปปินส์ก็คือ Sampaguita Jasmine หรือ Arabian Jasmine หรือดอกมะลิ และ Jasminum sambac (L.) Aiton ดังที่ได้เรียบเรียงไว้แล้วข้างต้น

           ปัญหาที่เกิดความผิดพลาดดังกล่าวคือ สิ่งที่นักพฤกษอนุกรมวิธานได้ให้ความสำคัญและตระหนักรู้เป็นอย่างดี ตั้งแต่ในสมัยยุคแรก ๆ ของการเริ่มต้นศึกษาและจัดจำแนกหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิต โดยวิธีการกำหนดชื่อของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดให้มีเพียงชื่อเดียวและต้องไม่เป็นชื่อที่ซ้ำกัน โดยใช้ภาษาละตินสำหรับการระบุชื่อชนิดของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ให้เป็นภาษาสากลา ภาษาเดียวกันเพื่อให้สามารถสื่อสารได้เข้าใจตรงกันทั่วโลก ซึ่งเรียกว่า “ชื่อวิทยาศาสตร์” หรือ ‘Scientific name’ ชื่อวิทยาศาสตร์เป็นชื่อในระบบทวินาม (Binomial nomenclature) ซึ่งบัญญัติขึ้นโดย Carl Linnaeus (ค.ศ. 1707–1778) นักฟิสิกส์ นักสัตววิทยา และนักพฤกษศาสตร์ที่มีชื่อเสียงชาวสวีเดน และใช้กันมาอย่างยาวนานจวบจนถึงปัจจุบัน การเพิกเฉยต่อเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งดังกล่าวก่อให้เกิดความสับสน วุ่นวาย การขัดแย้ง ฯลฯ อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ในหลาย ๆ ด้าน และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน มีพรรณไม้หลายชนิดที่มีชื่อสามัญว่า ‘Jasmine’ แต่ไม่ได้หมายความว่าพรรณไม้ทุกชนิดดังกล่าวจะเป็นพืชที่ถูกจัดจำแนกในพืชสกุล Jasminum เสมอไป พันธุ์ไม้ที่ดูเหมือนจะถูกอ้างถึง และปรากฏรูปภาพประกอบร่วมกับบทความที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องดังกล่าวมากที่สุดก็น่าจะเป็นดอกไม้สามชนิด นี้
 

          พุดแก้วหรือ Confederate Jasmine หรือ Star Jasmine

                    พืชชนิดดังกล่าวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ‘Trachelospermum jasminoides (Lindl.) Lem.’

                    เป็นพืชดอกที่จัดจำแนกอยู่ในวงศ์ APOCYNACEAE

          พุดซ้อนหรือ Gardenia หรือ Cape Jasmine

                    พืชชนิดดังกล่าวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ‘Gardenia jasminoides J. Ellis

                    เป็นพืชดอกที่จัดจำแนกอยู่ในวงศ์ RUBIACEAE

          แก้วหรือ Orange Jasmine หรือ Chinese Box

                    พืชชนิดดังกล่าวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ‘Murraya paniculata (L.) Jack’

                    เป็นพืชดอกที่จัดจำแนกอยู่ในวงศ์ RUTACEAE

ซึ่งพืชสองชนิดแรก คือ พุดแก้วและพุดซ้อนนั้น ได้ใช้ชื่อสำหรับระบุชนิดเหมือนกันว่า ‘jasminoides’ ซึ่งจากชื่อดังกล่าวได้ระบุแล้วอย่างชัดเจนว่า “คล้ายดอกมะลิ” (Jasmine-like) เป็นนัยที่บ่งบอกได้ว่าพืชชนิดนี้ไม่ใช่มะลิ (Jasmine) ที่จัดอยู่ในสกุล Jasminum วงศ์ OLEACEAE

 

         นอกจากนี้ยังมีพรรณไม้ชนิดอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากที่มีชื่อเรียกว่า ‘Jasmine’ อย่างน้อยแค่เฉพาะชนิดพรรณไม้ที่เป็นมะลิอย่างแท้จริงคือ เป็นพรรณไม้ที่ถูกจัดจำแนกไว้ในสกุล Jasminum วงศ์ OLEACEAE มีประมาณ 200 ชนิด ทั้งนี้ยังไม่ได้นับรวมจำนวนของสายพันธุ์ของมะลิแต่ละชนิดที่มีอีกเป็นจำนวนมากมาย (Steve Christman, 2011) ดังจะเห็นได้จากบทความข้างต้น เฉพาะมะลิหรือ J. sambac (L.) Aiton มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันอย่างมากมาย ในหลายภาษา ในหลายวัฒนธรรม ในหลายชาติพันธุ์ ของในแต่ละประเทศ เชื่อว่าน่าจะมีเกินกว่า 100 ชื่อที่ใช้เรียกเจ้าดอกไม้ดอกเล็ก ๆ สีขาวสะอาดบริสุทธิ์และมีกลิ่นที่หอมหวนอันน่าติดตรึงใจของคนทั้งโลก

          ส่วนพรรณไม้ที่ไม่ใช่มะลิที่แท้จริงอีกเล่า พรรณไม้ที่ถูกจัดจำแนกให้อยู่ในชื่อสกุลหรือชื่อวงศ์ของพรรณไม้ในชื่ออื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากสกุล Jasminum ในวงศ์ OLEACEAE อย่างเช่นที่ได้กล่าวมาแล้วอย่าง พุดแก้ว พุดซ้อนแก้ว และชนิดอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ

          - ราตรีหรือ Night-Blooming Jasmine
            Cestrum nocturnum L. วงศ์ SOLANACEAE

          - ปีบหรือ Tree Jasmine, Indian Cork Tree
            Millingtonia hortensis L.f. วงศ์ BIGNONIACEAE

          - เคราฤาษีหรือ Sorcerers Bush, Wild Jasmine, Indian Privet, Embrert, Seaside Clerodendrum, Garden quinine
            Volkameria inermis L. วงศ์ LAMIACEAE

          - ทองพันชั่งหรือ Nagamalli, Snake Jasmine, White Crane Flower
            Rhinacanthus nasutus (L.) Kurz วงศ์ ACANTHACEAE

          - ซ่อนกลิ่นเถาหรือ Madagascar Jasmine, Waxflower, Hawaiian Wedding Flower, Bridal Wreath
            Marsdenia floribunda (Brongn.) Schltr. วงศ์ APOCYNACEAE

            ฯลฯ

          เรื่องดังกล่าวถือได้ว่ามีความสำคัญสำหรับทุก ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่กำลังสืบค้นหาข้อมูล ผู้ที่กำลังจะแสดงข้อมูลหรือเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ถึงสาธารณชน และก่อนที่เราจะเสพข้อมูลต่าง ๆ ควรใช้ปัญญาและความรู้รอบเพื่อใช้สำหรับพิจารณาความถูกต้อง ตลอดจนความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลที่ใช้สำหรับอ้างอิง เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวม

         Sampaguita ได้รับการยอมรับและประกาศอย่างเป็นทางการในฐานะดอกไม้ประจำชาติ ในปี ค.ศ. 1934 เป็นดั่งสัญลักษณ์ของความรู้สึกถึงความรับผิดชอบในหน้าที่ และรักษาสัญญาอยู่เสมอของชาวฟิลิปปินส์ ‘Sampaguita’ “ฉันขอสัญญากับคุณ” ดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่ชาวฟิลิปปินส์นิยมกันอย่างแพร่หลายและน่าเชื่อว่าน่าจะมากที่สุดในขณะนั้น จากอรรถประโยชน์เหล่านี้

            นามธรรม รับรู้ได้ด้วยใจ

            - วิถีชีวิต Sampaguita เป็นสัญลักษณ์ของความรัก อารมณ์ความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับความรัก แสดงให้เห็นถึงความลุ่มหลงในเรื่องของกามคุณ เรื่องของทางโลก

            - วัฒนธรรม Sampaguita เป็นสัญลักษณ์ของความชื่นชม ความยินดี การอวยพร และการแสดงออกถึงความปรารถนาดีที่มีให้ซึ่งกันและกันในการอยู่ร่วมกัน
               ในสังคม

            - ศาสนา Sampaguita เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความเชื่อ ความศรัทธา และการแสดงออกถึงซึ่งความเคารพนับถืออย่างสูงสุดของแต่ละชาติชน
               เป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณ

             ฯลฯ
 

            รูปธรรม รับรู้ได้ด้วยรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส (ตา ลิ้น จมูก หู และกายสัมผัส)

            - Sampaguita พันธุ์ไม้พืชปลูกประดับที่มีความสวยงาม มีกลิ่นหอมอันน่าเพลิดเพลินจรุงใจ ‘King of Flowers’

            - Sampaguita พันธุ์ไม้พืชอาหารและปรุงแต่งอาหารให้หอมชวนให้ลิ้มลอง

            - Sampaguita พันธุ์ไม้พืชสมุนไพรรักษาโรค ทั้งราก ลำต้น ใบ ดอก ผล และเมล็ด

            - Sampaguita พันธุ์ไม้พืชเศรษฐกิจ-สังคม สร้างอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนาสังคม

            - Sampaguita พันธุ์ไม้พืชน้ำมันหอม ‘King of Flower Essential Oils’

            - Sampaguita พันธุ์ไม้พืชศิลป์ประดิษฐ์ สวยสดงดงาม หอมแรงกลิ่น สรรค์สร้าง

            - Sampaguita พันธุ์ไม้พืชศิลปิน บทประพันธ์ วรรณกรรม บทเพลง โคลง กลอน กวี

            ฯลฯ
         

          ถึงอย่างไรก็ตาม ในบริบทแห่งความเป็นจริงแล้ว Sampaguita หรือดอกมะลิกลับกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังสำหรับชาวฟิลิปปินส์ผู้ซึ่งยากไร้และขาดโอกาสอันดีในสังคม ​Sampaguita ดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้รับการยอมรับจากชาวฟิลิปปินส์ เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมามากกว่า 8 ทศวรรษ ในยุคสมัยที่อะไร ๆ หลาย ๆ อย่างมีความแตกต่างจากปัจจุบันเป็นอย่างมาก แต่คุณค่าโดยเนื้อที่แท้จริงของดอกมะลิก็ได้เป็นที่ยอมรับและเป็นที่ประจักษ์แจ้งแล้วต่อชาวฟิลิปปินส์ และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นเป็นดั่งการกระตุ้นเตือนถึงความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ในบรรพบุรุษ ในประวัติศาสตร์ ในวัฒนธรรมประเพณีที่ได้สืบทอดส่งต่อกันมาอย่างยาวนาน จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เพื่อให้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าแห่งดอกไม้ประจำชาติอย่างแท้จริง ในฐานะสัญลักษณ์ประจำชาติ และอยู่เคียงคู่ประเทศฟิลิปปินส์ต่อไปอีกตราบนานเท่านาน

 

                                                                                                                                                          “มะลิ งามดอกไม้
      หอมกลิ่น สะอ้าน
                                                                                                                                              มะลิ งามยลยิน
      เพริศแพร้ว
                                                                                                                                              มะลิ ฟิลิปปินส์
      คุณเด่น นานา
                                                                                                                                              มะลิ งามควรแล้ว
      ค่าล้ำผูกพัน”

 

Makita kang muli

กวีศิลป์ คำวงค์


เอกสารอ้างอิง

 

ปิยะ เฉลิมกลิ่น. 2556. มะลิในเมืองไทย (Jasmines in Thailand). สำนักพิมพ์บ้านและสวน, บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน). กรุงเทพมหานคร.

ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี (บรรณาธิการ). 2557. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช
          กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. กรุงเทพมหานคร.

ส.พลายน้อย. 2554. พฤกษนิยาย. สำนักพิมพ์ ยิปซี. กรุงเทพมหานคร.

D. J. Mabberley. 1997. The Plant-Book A portable dictionary of the vascular plants, second edition. The Pitt Building, Trumpington Street,
          Cambridge CB2 1RP, United Kingdom.

Engel David H. & Suchart Phummai. 2007. A Flield Guide to Tropical Plants of Asia. Marshall Cavendish Editions. Singapore.

 

เวปไซต์อ้างอิง (September, 2016)
 

Betsy Beacom (studioD) What Is the Meaning of the Jasmine Flower?
          
Website; http://peopleof.oureverydaylife.com/meaning-jasmine-flower-9050.html

Christina Mendez. 2013. The Philippine Star : Waling-waling soon a national flower, on January 30, 2013.
          Website : http://www.philstar.com/headlines/2013/01/30/902646/waling-waling-soon-national-flower

Isabel Prontes. eHow  > Garden  > Plants, Flowers & Herbs  > Flower Basics  > Midnight Jasmine Plants.
          
Website : http://www.ehow.com/how_7583617_grow-confederate-jasmine-vine.html

Jacob J. Wright. eHow  > Garden  > Plants, Flowers & Herbs  > Flower Basics  > What Is the Growth Rate for a Confederate Jasmine Vine?
          
Website : http://www.ehow.com/how_7583617_grow-confederate-jasmine-vine.html

Jennifer Spirko. eHow  > Garden  > Plants, Flowers & Herbs  > Flower Basics  > Meaning of the Sampaguita Flower.
          
Website : http://www.ehow.com/how_7583617_grow-confederate-jasmine-vine.html

John Minton. 2014. Plants : Jasminum Sambac Variations, in Garden Tips Information, on March 3, 2014.
         Website : http://gardenoftomorrow.com/jasminum-sambac-variations/

Josef Genzor, 1987. Philippinische Märchen, Hanau /Main, 1987 (out of print), in Wolfgang Bethge.  Plants; Sampaguita : The National Flower.
         
Website; http://www.insights-philippines.de/sampaguitaenglisch.htm

Joyce Starr. eHow  > Garden  > Plants, Flowers & Herbs  > Flower Basics  > How to Grow Confederate Jasmine Vine.
         
Website : http://www.ehow.com/how_7583617_grow-confederate-jasmine-vine.html

Legarda, Loren B. 2013. WALING-WALING ORCHIDS AS NATIONAL FLOWER, Senate Bill No. 3307, 15th Congress of the Republic of the
         Philippines, 3rd Regular Session. Website : https://www.senate.gov.ph/lis/bill_res.aspx?congress=15&q=SBN-3307 Naheed Shoukat Ali. 2011.
         FRAGRANTICA Fragrances and Cultures, Jasmine in Different Cultures.
         Website : http://www.fragrantica.com/news/Jasmine-in-Different-Cultures-2238.html

Pinoyentre. 2010. Growing Sampaguita, in Pinoy Entrepreneur, on April 19, 2010.
          Website : http://www.pinoy-entrepreneur.com/2010/04/19/growing-sampaguita/

Sangkae. 2009. Sangkae’s blog, หอมมะลิ...หอมรัก, Posted on August 2, 2009.
          Website : https://sangkae.wordpress.com/

Steve Christman. 2011. Floridata Plant Encyclopedia, 982 Jasminum sambac.
         
Website : http://floridata.com/Plants/Oleaceae/Jasminum%20sambac/982

TRAVELER ON FOOT, PHOTO-ESSAYS AND TRAVEL NARRATIVES. 2008. San Pedro’s Sampaguita. Lake Towns of Laguna de Bay, on July 6, 2008.
         Website : https://traveleronfoot.wordpress.com/2008/07/06/san-pedros-sampaguita/

Wolfgang Bethge. Plants; Sampaguita : The National Flower.
          Website;http://www.insights-philippines.de/sampaguitaenglisch.htm

Zoe Rodriguez. 2013. Senate passes bill declaring Waling-waling nat’l flower alongside Sampaguita in INQUIRER.net on 07:00 PM
          February 4th, 2013. Website : http://newsinfo.inquirer.net/352497/senate-passes-bill-declaring-waling-waling-national-flower

http://choco-story-brugge.be/ENG/oldrecipes.htm

http://envis.frlht.org/vernacular_search.php?tel=TE&txtbtname=swarna+ganneru&ver=sampanga&emailid=

http://www.buzzle.com/articles/study-of-sampaguita-flower.html

http://www.flowersofindia.net/index.html

http://www.theflowerexpert.com/content/aboutflowers/national-flowers

https://en.wikipedia.org/wiki/

https://prezi.com/sy3x_3oaoxyb/untitled-prezi/

https://sangkae.wordpress.com/

https://toptropicals.com/html/toptropicals/articles/shrubs/jasmin_facts.htm

 
มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย