เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๑๐ (Ep. 1/2)

  • 15/03/2017
  • จำนวนผู้ชม 11,846 คน

เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๑๐
(Ep. 1/2)

บัวหลวง ดอกไม้ประจำชาติของเวียดนาม

Lotus is the national flower of Vietnam

                                                                              
                                                                                                                                                            “แดงชมพูแรกแย้ม
     อรุณรุ่ง
                                                                                                                                               ดารดาษนทีทุ่ง
     แหล่งหล้า
                                                                                                                                               บัวหลวง กลิ่นหอมฟุ้ง
     บริสุทธิ์
                                                                                                                                               ประดับน้ำใต้ฟ้า
     ดอกไม้เวียดนาม”  

 

Em yêu anh

 

           บัวหลวง เป็นดอกไม้สัญญาลักษณ์ประจำชาติของประเทศเวียดนามหรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (The Socialist Republic of Vietnam) โดยอ้างถึงเฉพาะดอกบัวหลวงที่มีกลีบดอกสีชมพูเพียงเท่านั้น (The Red Lotus) บัวหลวงเป็นที่รู้จักกันในนามของ “ดอกไม้แห่งรุ่งอรุณ” หรือในภาษาถิ่นเวียดนามจะเรียกว่า ‘Hoa sen dó’ ดอกบัวหลวงเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความสวยงาม ความสันติสุข ความผูกพัน ความมุ่งมั่น และการมองโลกในแง่ดีสำหรับอนาคตต่อไปภายหน้า นอกจากนี้บัวหลวงยังมีบทบาทที่สำคัญมากยิ่งทั้งในด้านประวิติศาสตร์ งานสถาปัตยกรรม งานประติมากรรม และงานศิลปกรรมหัตถกรรมที่ได้สืบทอดส่งผ่านเรื่องราวต่าง ๆ จากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นต่อไปมาอย่างยาวนานนับหลายศตวรรษ ส่วนในด้านของงานวรรณกรรม ความสวยงามของดอกบัวหลวงมักถูกกล่าวถึงหรือใช้สำหรับการเปรียบเปรยในบทกลอน และเพลงพื้นเมืองของชาวเวียดนามอยู่บ่อยครั้ง ในปัจจุบันหากใครนึกถึงประเทศเวียดนามก็จะนึกถึงดอกบัวหลวง ซึ่งเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญ เปรียบดั่งดอกบัวหลวงแม้จะเกิดและอาศัยอยู่ใกล้โคลนตม แต่ก็ยังมีกลิ่นที่หอมบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมเช่นเดียวกับชาวเวียดนาม แม้ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากลำบากอย่างมาก ชาวเวียดนามก็ยังคงรักษาความเที่ยงธรรม และหัวใจที่สะอาดบริสุทธิ์ของพวกเขาไว้ได้อย่างมั่นคง

          ในราวเดือนมิถุนายนของทุกปีดอกบัวหลวงทั้งสีชมพูและสีขาวจะพากันบานสะพรั่งยามเมื่อรับแสงแรกแห่งอรุณรุ่ง จากทะเลสาบ จากหนองน้ำ และแหล่งน้ำอื่น ๆ ในประเทศเวียดนาม สถานที่ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดสำหรับชมความงดงามของดอกบัว คือ ทะเลสาบทางตะวันตกในกรุงฮานอยอย่าง ทะเลสาบ Tinh Tam อยู่ในจังหวัด Dong Thap ซึ่งทะเลสาบดังกล่าวอยู่ภายในพระราชวังอิมพีเรียล ใน Hue และบริเวณดังกล่าวก็ยังเป็นดินดอนสามเหลี่ยมของแม่น้ำโขง ในขณะที่ชาวเวียดนามต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในระดับประเทศ ชาวเวียดนามมากกว่า 50,000 คน ได้มีส่วนร่วมสำหรับการลงคะแนนเพื่อเลือกดอกไม้ประจำชาติ และบัวหลวงสีชมพูก็ได้รับชัยชนะ โดยชาวเวียดนามส่วนใหญ่ให้การยอมรับและให้เกียรติลงคะแนนเลือกบัวหลวงจำนวนมากที่สุด โดยคิดเป็นร้อยละ 71 ของจำนวนผู้ที่เข้าร่วมลงคะแนนทั้งหมด ชาวเวียดนามมีความรักที่ยิ่งใหญ่สำหรับดอกบัวหลวง เป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพตลอดจนความมั่นคง และยังถือได้ว่าเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมในระดับสากล ซึ่งเห็นได้จากดอกบัวใช้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น บัวหลวง (Nelumbo nucifera Gaertn.) ก็เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศอินเดียเช่นกัน แต่มิรู้แน่ชัดว่าได้ระบุเฉพาะเจาะจงสีใดสีหนึ่งหรือไม่ ส่วนในประเทศอียิปต์ดอกไม้ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติคือ White Egyptuan Water Lily (Nymphaea lotus L.) สำหรับในประเทศศรีลังกา (Sri Lanka) และประเทศบังคลาเทศ (Bangladesh) ดอกไม้ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของทั้งสองประเทศคือ ดอกบัวชนิด Blue Star Water Lily (Nymphaea nouchali Burm.f.) เป็นต้น

          นอกเหนือจากความงดงามที่ละเอียดอ่อนแล้ว บัวหลวงยังเป็นพืชที่มีบทบาทสำคัญชนิดหนึ่งในอาหารเวียดนามหลากหลายเมนู อาทิ ลำต้นอ่อนของบัวใช้เป็นส่วนผสมในสลัด เกสรนำมาอบให้แห้งใช้สำหรับผสมกับใบชาเพื่อปรุงกลิ่นให้ชามีกลิ่นหอมขณะที่ชงดื่ม ส่วนเมล็ดบัวสามารถที่จะทานได้ทั้งเมล็ดดิบหรือทำให้สุกด้วยการต้มให้เมล็ดนิ่มตัวลง หรือจะใช้สำหรับต้มผสมกับลำไยอบแห้ง ผสมน้ำตาลกรวดเพื่อเพิ่มรสชาติความหวาน นอกจากนี้ส่วนของต้นอ่อน (embryo) ภายในเมล็ดของบัวหรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “ดีบัว” นั้น รสของดีบัวมีรสชาติที่ขม และยังใช้เป็นยาสมุนไพรสำหรับรักษาโรค ส่วนอาหารที่มีเมล็ดบัวเป็นส่วนประกอบถือได้ว่าเป็นยารักษาโรคเบื้องต้น อย่างเช่นอาการนอนไม่หลับ ส่วนใบชาที่ได้รับการปรุงกลิ่นจากเกสรบัว ซึ่งเรียกชาชนิดนี้ว่า “ชาบัว” ที่มีความหอมและมีรสชาติที่ดีเลิศที่ใครต่อใครที่ได้มาเยือนประเทศเวียดนามแล้วต้องไม่ควรพลาดที่จะได้ลิ้นลอง (Vietnamonline, 2016)

 

             บัวหลวงหรือที่รู้จักกันในชื่อ Bean of India, East Indian lotus, Egypitian bean, Hindu lotus, Indian lotus, Oriental lotus, Sacred lotus และ Simply lotus บัวหลวงเป็นพืชดอกที่จัดจำแนกอยู่ในวงศ์ NELUMBONACEAE อยู่ในสกุล Nelumbo โดยมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า ‘Nelumbo nucifera Gaertn.’ ซึ่งพืชชนิดนี้ได้รับการตั้งชื่อโดย Joseph Gaertner (ค.ศ. 1732 – ค.ศ. 1791) นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน ในปี ค.ศ. 1788 โดยที่ชื่อสกุล Nelumbo มีรากศัพท์มาจากภาษาสิงหล ซึ่งเป็นภาษาโบราณที่ใช้กันในประเทศศรีลังกา และมีความหมายว่า “ดอกบัว” ส่วนคำระบุชื่อชนิดว่า ‘nucifera’ นั้น หมายถึง “มีผลแข็ง” (วรนุชและสันติ, 2553)

         บัวหลวงเป็นพรรณไม้น้ำและเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุหลายปี เป็นพืชพื้นถิ่นและมีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเขตร้อน ของประเทศรัสเซียทางตอนใต้ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย อิหร่าน จีน ญี่ปุ่น นิวกินี และรัฐควีนส์แลนด์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย

 

             บัวหลวง เป็นดอกไม้ที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี บัวหลวงมีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า ปทุมชาติ บัวหลวงเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นใต้ดินแบบเหง้าและไหล ใบ เป็นใบเดี่ยวรูปกลม เมื่อยังอ่อนจะลอยปิ่มน้ำ ส่วนใบแก่แผ่นใบจะโผล่พ้นน้ำ รูปใบเกือบกลมขนาดใหญ่ ใบมีสีเขียว ผิวใบมีนวล ก้านใบแข็งและมีหนาม ก้านใบจะติดตรงกลางแผ่นใบ ดอก เป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ชูสูงพ้นผิวน้ำ มีทั้งดอกทรงป้อมและแหลม กลีบดอกมีทั้งชนิดกลีบดอกซ้อนและไม่ซ้อน กลีบดอกสีขาว สีชมพูหรือสีเหลือง แล้วแต่แต่ละชนิดพันธุ์ ดอกบัวหลวงจะเริ่มบานตั้งแต่ตอนเช้า และหุบลงในช่วงพลบค่ำ พอครั้นถึงเช้าวันใหม่เมื่อดอกบัวที่ตูมนั้นได้รับแสงอาทิตย์ก็จะบานกลีบอีกครั้ง ดอกมีกลิ่นหอม ก้านดอกแข็งและมีหนามชูดอกเหนือน้ำและชูสูงกว่าใบเล็กน้อย กลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ ขนาดเล็ก สีขาวอมเขียวหรือสีชมพู หลุดร่วงง่าย กลีบดอกจำนวนมากเรียงซ้อนหลายชั้นบนฐานรองดอกรูปกรวย กลีบดอกมีสีตามลักษณะประจำของแต่ละชนิดพันธุ์ ผล รูปกลมรี สีเขียวนวล มีจำนวนมากฝังอยู่ในส่วนที่เป็นรูปกรวย เมื่ออ่อนมีสีเหลือง รูปกรวยนี้เมื่อเป็นผลแก่จะขยายใหญ่ขึ้นมีสีเทาอมเขียวที่เรียกว่า “ฝักบัว” มีผลสีเขียวอ่อนฝังอยู่เป็นจำนวนมาก

 

           จากการศึกษาในระดับชีวโมเลกุล (DNA) ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทราบว่า พรรณไม้ในสกุลบัวหลวง Nelumbo และ Platanus (วงศ์ PLATANACEAE) มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดทางด้านวิวัฒนาการ แม้ว่าลักษณะที่มองเห็นภาพนอกของพืชทั้ง 2 สกุลนี้ จะมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยพืชในสกุล Nelumbo ทั้งหมดเป็นพรรณไม้น้ำและเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ส่วนพืชในสกุล Platanus ทั้งหมดเป็นพรรณไม้ที่มีเนื้อไม้แข็ง มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดสูงใหญ่ การศึกษาดังกล่าวได้รับการยืนยันโดยตำแหน่งการแยกตัวของวงศ์วานวิวัฒนาการ (Phylogeny, Phylogenetic Tree) ซึ่งเป็นวิธีของการจัดกลุ่มพรรณไม้ โดยอาศัยความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการ เป็นการแสดงถึงความใกล้เคียงหรือไกลห่างของพรรณไม้แต่ละชนิด และจากผลการศึกษาที่ได้นั้น พบว่าพืชทั้ง 2 สกุลนี้ อาจจะเป็นพรรณไม้ชนิดซากดึกดำบรรพ์ที่ยังคงมีชีวิตอยู่หรือที่เรียกว่า Living Fossil บัวนับเป็นพืชดอกที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ไม่ต่ำกว่า 135 ล้านปี ตั้งแต่ในยุค Cretaceous ซึ่งเป็นยุคที่พืชดอกได้เริ่มมีวิวัฒนาการและเกิดขึ้นบนโลก ซึ่งสอดคล้องกับตำนานในพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการกำเนิดของดอกบัวที่ถือได้ว่าเป็นดอกไม้ชนิดแรกที่ได้ถือกำเนิดขึ้น ดังปรากฏในหนังสือไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา (ส. พลายน้อย)

 

          บัวหลวงได้รับการยอมรับจากชาวเวียดนาม และเป็นหนึ่งในสี่ของพรรณไม้ที่มีความสง่างามร่วมกับต้นสน (pine), ไผ่ (bamboo) และ ดอกเบญจมาศ (chrysanthemum) เฉกเช่นเดียวกัน โดยที่พรรณไม้แต่ละชนิดนั้นมีความสำคัญสำหรับวิถีของการดำเนินชีวิตของชาวเวียดนาม ดังจะได้กล่าวในลำดับต่อไป

          ดอกเบญจมาศหรือ Chrysanthemum หรือในภาษาถิ่นเวียดนามจะใช้ว่า ‘Cây cúc หรือ Hoa cúc’ เป็นชื่อของดอกไม้ที่เกิดขึ้นจากการผสมของคำ 2 คำ ที่ได้รับมาจากภาษากรีกโบราณ คือ χρυσός chrysos (gold) ซึ่งหมายถึงทอง และ ἄνθεμον anthemon (flower) ซึ่งหมายถึงดอกไม้ เพราะฉะนั้น Chrysanthemum จึงหมายถึงดอกไม้สีเหลืองทอง ดอกเบญจมาศเป็นพืชดอกที่จัดจำแนกอยู่ในวงศ์ Compositae หรือวงศ์ ASTERACEAE มีถิ่นกำเนิดในเอเชีย แถบตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปยุโรป และชนิดพันธุ์โดยส่วนมากมาจากทวีปเอเชีย โดยประเทศจีนเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางแห่งความหลากหลาย ซึ่งในปัจจุบันพบว่าดอกเบญจมาศมีจำนวนชนิดพันธุ์ และจำนวนของสายพันธุ์ที่มีความหลากหลายเป็นอย่างมาก เนื่องจากดอกเบญจมาศสามารถที่จะปลูกให้ได้ผลผลิตอย่างงดงามตลอดทั้งปี ชาวเวียดนามจึงถือว่าดอกเบญจมาศนั้นเป็นดั่งสัญลักษณ์ของการมีวิถีชีวิตที่สงบสุข ดอกเบญจมาศนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายโดยทั่วไปในหลายเทศกาล เช่น ช่วงตรุษญวณ (Vietnam New Year) จะใช้ดอกเบญจมาศสีเหลืองสำหรับการประดับตกแต่งตามบ้านเรือนของชาวเวียดนาม เพื่อต้อนรับการเฉลิมฉลองเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งเชื่อว่าดอกเบญจมาศสีเหลืองนี้จะนำพาความสุขมาให้ทุก ๆ คนในครอบครัว จะไม่ใช้ดอกเบญจมาศสีขาวสำหรับในงานมงคล เนื่องจากดอกเบญจมาศสีขาวหรือดอกไม้สีขาวชนิดอื่น ๆ เป็นสัญลักษณ์แห่งความโสกเศร้าเสียใจ และนิยมใช้เฉพาะในงานศพเท่านั้น

           ดอกเบญจมาศมีประโยชน์หลากหลายอย่างทั้งในด้านสีสันที่มีความสวยสดงดงามอย่างหลากหลายสายพันธุ์ อย่างหลายหลากสีสัน นอกจากจะใช้ดอกเบญจมาศในการประดับจัดตกแต่งเนื่องในโอกาสเทศกาลงานสำคัญต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบของการจัดสวน จัดเป็นแปลงปลูกดอกไม้ จัดเป็นไม้กระถาง หรือเป็นไม้ตัดดอกแล้ว ยังสามารถพบเห็นภาพความงดงามของดอกเบญจมาศที่ใช้สำหรับเป็นต้นแบบในงานศิลปะแขนงต่าง ๆ ตลอดจนการใช้เป็นพืชสมุนไพร

          ในประเทศจีน ชาวจีนถือว่าดอกเบญจมาศเป็นดอกไม้หนึ่งในสี่ชนิดของดอกไม้ที่มีความสง่างามอย่างยิ่ง (Gentlemenly Flowers) โดยที่พรรณไม้อีก 3 ชนิด ได้แก่ ดอกพลัม (อาทิดอกท้อ ดอกบ๊วย หรือแม้แต่ดอกซากุระ) ดอกกล้วยไม้ และต้นไผ่ พรรณไม้ทั้ง 4 ชนิดนี้ถือได้ว่าเป็นพรรณไม้แห่งฤดูกาล และสามารถพบได้บ่อยครั้งที่สุดในงานศิลปะภาพวาดพู่กันจีน จนได้รับฉายาว่า “สุภาพบุรุษแห่งดอกไม้ทั้งสี่” (Flowers of the Four Seasons) โดยที่ดอกเบญจมาศเป็นตัวแทนแห่งฤดูใบไม้ร่วง ดอกพลัมเป็นตัวแทนแห่งฤดูหนาว ดอกกล้วยไม้เป็นตัวแทนแห่งฤดูใบไม้ผลิ และต้นไผ่เป็นตัวแทนแห่งฤดูร้อน (My Freedom) ชาวจีนยังใช้ส่วนของราก ลำต้น ใบ และดอกของเบญจมาศเป็นยาอายุวัฒนะ ถือว่าเป็นยาของเหล่าเซียนและเทพเจ้าทั้งหลาย ซึ่งคติความเชื่อดังกล่าวนี้ได้ถูกถ่ายทอดเข้าไปสู่ชาวเวียดนามตั้งแต่ครั้งอดีตที่จีนได้เคยปกครองดินแดนแถบนี้ นอกจากนี้ยังเห็นได้จากวัฒนธรรมด้านอื่น ๆ เช่น ภาษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและประเพณีต่าง ๆ ก็เห็นจะได้รับอิทธิพลนั้นมาจากแผ่นดินจีน แม้จะมีความคล้ายคลึงกันแต่ก็หาได้เหมือนกันเสียหมดสิ้น เช่น พรรณไม้ที่ทั้งสองประเทศถือว่ามีความสำคัญเป็นที่สุด เป็นดอกไม้ที่มีความสง่างามอย่างยิ่ง (Gentlemenly Flowers) นั้น แม้จะปรากฏว่าเป็นดอกเบญจมาศและต้นไผ่เหมือนกันแต่ก็ยังคงมีอีกสองชนิดที่ต่างกันออกไป เช่น ดอกบัวและต้นสน

 

            ต้นสน (Pine หรือ Conifer) หรือในภาษาถิ่นเวียดนามจะใช้คำว่า ‘Cây thông’ สนเป็นพืชไร้ดอกหรือพืชเมล็ดเปลือย (gymnosperms) ในกลุ่มสน ถูกจัดจำแนกไว้ในสกุล Pinus และเป็นสมาชิกในวงศ์ PINACEAE คำสามัญภาษาอังกฤษของพืชกลุ่มสนในสกุลนี้ คือ pine เป็นคำที่ได้รับมาจากตำในภาษาละติน คำว่า ‘pinus’ ต้นสนพบได้ทั่วไปในประเทศเวียดนาม และที่พบเป็นจำนวนมากจะอยู่ในแถบบริเวณตอนเหนือของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางมากกว่า 1,000 เมตร อย่างเมืองดาลัด ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งต้นสน เมืองดาลัดเป็นเมืองที่อยู่ในท่ามกลางขุนเขาที่ปกคลุมไปด้วยทิวสน เป็นพื้นที่ที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,500 เมตร บริเวณพื้นที่ส่วนใหญ่ในเมืองเต็มไปด้วยเนินเขาสูง ๆ ต่ำ ๆ ที่มีพรรณไม้จำพวกสนขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้รอบ ๆ เมืองเต็มไปด้วยทิวทัศน์ที่เขียวขจีด้วยทิวต้นสนอย่างสวยงาม และพื้นที่ที่เห็นจะพบความงดงามของบรรดาต้นสนจำนวนมาก ๆ นอกจากพื้นที่ป่าแล้วก็คงเป็นพื้นที่บริเวณที่เป็นที่ตั้งของสุสานของสมเด็จพระจักรพรรดิหลายพระองค์ของจักรวรรดิเวียดนามในอดีต จะเป็นพื้นที่ที่ร่มรื่นของเงาสนนับหลายสิบ หลายร้อยต้นในพื้นที่บริเวณสุสานโดยรอบ “ต้นสน” ในปรัชญา ในคติความเชื่อแห่งวัฒนธรรมของชาวเวียดนามแล้ว เปรียบต้นสนว่าเป็นสัญลักษณ์ของ “ความเป็นอมตะ” เปรียบได้ดั่งดวงพระวิญญาณขององค์สมเด็จพระจักรพรรดิที่จะคงอยู่เป็นอมตะตราบชั่วกาลอันเป็นนิรันดร์ นอกจากนี้ต้นสนยังเปรียบได้กับการมีอายุที่ยืนยาว ที่เปรียบต้นสนเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอมตะ และชีวิตที่มีอายุยืยยาวนั้น เนื่องจากบรรพบุรุษของชาวเวียดนามแต่ครั้งอดีตได้สังเกตเห็นว่า ต้นสนเป็นพรรณไม้ที่มีใบอันเขียวชอุ่มตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะผ่านช่วงวันเวลาแห่งฤดูการใด ซึ่งแตกต่างจากพรรณไม้ชนิดอื่น ๆ ที่มักจะเกิดการแปรเปลี่ยนผันไปตามกาลเวลา และตามสภาพของภูมิอากาศ อีกทั้งต้นสนยังเป็นพืชที่มีอายุที่ยาวนานนับเป็น 1,000 ปี

        นอกจากป่าสนที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความสวยงามอย่างมากในหลายพื้นที่ จะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอันพลาดไม่ได้เสียเลยสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศเวียดนามแล้ว ชาวเวียดนามยังนิยมใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้สนเพื่อใช้สำหรับการก่อสร้าง งานโครงสร้าง การทำเครื่องเรือน เนื่องจากเนื้อไม้สนมีความแข็งแรง ทนทาน มีลวดลายที่สวยงาม นอกจากนี้พืชในกลุ่มสนชนิดนี้ จะมีน้ำมันอยู่ภายในเนื้อไม้ ช่วยให้เนื้อไม้สนมีความเงางาม และกลิ่นของน้ำมันสนยังสามารถช่วยป้องกันพวกแมลงต่างๆ ที่จะเข้ามารบกวนหรือทำลายเนื้อไม้ได้

          และเมื่อนึกถึงประเทศเวียดนาม นอกจากบัวแล้วคนทั่วไปก็มักจะคิดถึงต้นไผ่ (bamboo; Bambuseae) หรือในภาษาถิ่นเวียดนามจะใช้คำว่า ‘Cây tre’ เนื่องจากชาวเวียดนามถือว่า “ต้นไผ่” เป็นต้นไม้ประจำชาติ และลักษณะของการเจริญเติบโตของต้นไผ่นั้นจะตั้งตรงอยู่เสมอ เปรียบเหมือนเช่นเดียวกันกับชาวเวียดนาม แม้จะต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากลำบากมากสักเท่าไร พวกเขาก็คงยืนหยัดและไม่เคยยอมแพ้ ต้นไผ่จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของคุณธรรมของมนุษย์ที่ไม่ย่อท้อต่อความทุกข์ยากลำบากใด ๆ ทั้งสิ้น และต้นไผ่ยังได้รับการยอมรับจากชาวเวียดนามในฐานะที่เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำชาติ

          ต้นไผ่ที่ชาวเวียดนามใช้เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำชาตินั้นอ้างอิงถึง Bambuseae ซึ่งจากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า คำดังกล่าวหมายถึง การจัดจำแนกพืชในวงศ์ย่อยไผ่ (Subfamily Bambusoideae) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพืชวงศ์หญ้า (Family POACEAE หรือ GRAMINEAE) โดยแยกไผ่ออกเป็น 2 เผ่า (Tribe) ใหญ่ คือ

          1. เผ่าไผ่ล้มลุก (herbaceous bamboo; Tribe Olyreae) และ

          2. เผ่าไผ่มีเนื้อไม้ (woody bamboo; Tribe Bambuseae)

          (สราวุธ และคณะ, 2554)

 

        ต้นไผ่ต้นไม้สัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศเวียดนาม จึงหมายถึงไผ่ชนิดที่ถูกจัดจำแนกไว้ในเผ่าไผ่ที่มีเนื้อไม้ (Tribe Bambuseae) ซึ่งปัจจุบันพบว่าไผ่ในเผ่าดังกล่าวมีอยู่ด้วยกันมากมายหลากหลายชนิด และยังได้แบ่งย่อยออกเป็น 9 เผ่าย่อย (Subtribe) ประมาณ 91 สกุล (Genera) รวมทั้งสิ้นแล้วมีไผ่ชนิดที่มีเนื้อไม้ราวประมาณ 1,000 ชนิด แต่ตามข้อมูลไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าทางประเทศเวียดนามได้มีการระบุไผ่ชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นพิเศษหรือไม่ จึงถือเอาไผ่ในเผ่าไผ่ที่มีเนื้อไม้นี้สำหรับการอ้างถึงเพื่อให้มีความสอดคล้องดังคำเปรียบเทียบในความมุมานะของชาวเวียดนามดั่งต้นไผ่ที่สามารถยืนหยัดได้อย่างสง่างาม

 

บทความพรรณไม้ เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ 10 (Ep. 1/2) นอกจากจะทำให้เราได้รู้จักดอกไม้ประจำชาติของเวียดนามแล้ว ยังได้รู้จักพันธุ์ไม้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและมีความสำคัญกับชาวเวียดนามอีกด้วย ติดตามบทสรุปเรื่องราวของดอกบัวในตอนต่อไปครับ

กวีศิลป์ คำวงค์

 
มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย