พรรณไม้บูชาครู

  • 14/12/2015
  • จำนวนผู้ชม 23,347 คน

พรรณไม้บูชาครู

 

“ปาเจราจริยาโหนติ  คุณุตตรานุสาสกา
          ข้าขอประณตน้อมสักการ                        บูรพคณาจารย์
          ผู้กอรปประโยชน์ศึกษา
                  ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา                     อบรมจริยา
          แก่ข้าในกาลปัจจุบัน
                  ข้าขอเคารพอภิวันท์                       ระลึกคุณอนันต์
          ด้วยใจนิยมบูชา
                  ขอเดชกตเวทิตา                           อีกวิริยะพา
          ปัญญาให้เกิดแตกฉาน
                  ศึกษาสำเร็จทุกประการ                  อายุยืนนาน
          อยู่ในศีลธรรมอันดี
                  ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี                   ประโยชน์ทวี
          แก่ชาติและประเทศไทยเทอญ
ปัญญาวุฒิกเร เต เต ทินโนวาเท นมามิหัง”

 

          คำกล่าวไหว้ครูบทนี้คงไม่มีใครที่ไม่เคยได้กล่าวเพื่อน้อมสักการะ ไหว้สาครูบาอาจารย์ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ถึงความหมายบทขึ้นต้น และลงท้ายของคำกล่าวไหว้ครูบทนี้ที่ได้รจนาไว้เป็นภาษาบาลี

          “ปาเจราจริยาโหนติ  คุณุตตรานุสาสกา” แปลว่า ครูบาอาจารย์เป็นผู้มีคุณยิ่ง เป็นผู้พร่ำสอนศิลปวิทยา
          “ปัญญาวุฒิกเร เต เต ทินโนวาเท นมามิหัง” แปลว่า ข้าพเจ้าขอนอบน้อมครูบาอาจารย์ผู้ให้โอวาทเหล่านั้น

          พิธีไหว้ครูนั้นไม่ใช่เพียงแต่เป็นประเพณีที่ประกอบกันก่อนการเริ่มต้นที่จะศึกษาเล่าเรียนเท่านั้น ยังนิยมกระทำเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์ และแสดงความกตัญญูกตเวทิตาคุณแด่ผู้ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ และให้กิจการงานต่างๆ ที่จะเริ่มต้นทำนั้นสำเร็จเสร็จสิ้นอย่างเรียบร้อยหรือได้ชัยชนะเหนือคู่ต่อสู้ ดังจะเห็นได้จากก่อนที่นักมวยจะชกมวยก็ต้องมีพิธีการไหว้ครู ก่อนที่จะเริ่มต้นการแสดง นักแสดงต้องประกอบพิธีไหว้ครูในการแสดงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการฟ้อนดาบ การแสดงโขน ละคร รำฟ้อน ตลอดจนการสรรค์สร้างงานในเชิงช่างศิลป์ทั้งสิบหมู่ ส่วนเครื่องของที่จะนำมาไหว้ครูนั้นอาจมีมากน้อยแตกต่างกันออกไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี และความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมาแต่ครั้งบรรพชนของแต่ละสาขาวิชา พรรณไม้ที่นิยมใช้ในพิธีการไหว้ครู อาทิ ดอกมะเขือ ดอกเข็มและหญ้าแพรกนั้น คงเป็นพรรณไม้ที่คุ้นชินสำหรับขนบธรรมเนียมประเพณีไทยเป็นอย่างดี

 

     “พรรณไม้ไหว้สาบูชาครู ท่านผู้รู้สรรพวิชาทั้งศาสตร์ศิลป์
 พระคุณครูมากล้นท่วมแผ่นดิน ทั่วทุกถิ่นเชิดชูครูน้อมบูชา
ดอกมะเขือ ดอกเข็ม แลหญ้าแพรก ธูปเทียนแทรกแตกฉานสิ้นกังขา
เทิดพระคุณครูผู้ให้ซึ่งปัญญา น้อมวันทาแม่พิมพ์พ่อพิมพ์เอย”

        

          ดอกมะเขือ พืชในสกุล Solanum spp. อยู่ในวงศ์ SOLANACEAE เป็นกลุ่มพืชที่มีความหลากหลายทั้งชนิด และสายพันธุ์จำนวนมาก ส่วนใหญ่ผลนิยมนำมาบริโภคทั้งนำมาประกอบอาหาร และใช้เป็นผักเครื่องเคียง ด้วยลักษณะของดอกมะเขือ เมื่อขณะที่ออกดอกจะโค้งลงต่ำ คนโบราณจึงเลือกสรรมาเป็นหนึ่งในพรรณไม้ที่นิยมนำมาใช้ประกอบพิธีการไหว้ครู เพื่อให้ศิษย์นั้นรู้จักที่จะอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ ว่านอนสอนง่าย ให้เชื่อฟังคำอบรมสั่งสอนด้วยความเคารพ อีกทั้งยังเป็นพันธุ์ไม้อธิษฐานจิต ขอให้ศิษย์มีความรู้มากเหมือนเมล็ดมะเขือ” (ส. พลายน้อย) มีความรู้รอบด้านอย่างหลากหลายดังคำกล่าวที่ว่า เมล็ดมะเขือมีมากมายฉันใดขอให้ความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาเล่าเรียนมีมากมายฉันนั้น

 

     “ ดอกมะเขือ มอบให้ เคารพ
คุณดั่งห้วงมหรรณพ ท่วมท้น
กาลก่อนเก่าขนบ ไหว้กราบ ครูเอย
น้อมอ่อนถ่อมตนล้น ศิษย์นี้บูชา”

        

 

          ดอกเข็ม พืชในสกุล Ixora spp. อยู่ในวงศ์ RUBIACEAE เป็นกลุ่มพืชที่มีความหลากหลายทั้งชนิด และสายพันธุ์จำนวนมาก เช่นเดียวกับดอกมะเขือ ส่วนใหญ่พืชในสกุลเข็มนิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ และคงเป็นเพราะชื่อของดอกเข็ม ซึ่งมีที่มาจากลักษณะของดอกขณะยังตูมอยู่มีปลายเรียวแหลมเหมือนดังเข็ม จึงเป็นพันธุ์ไม้อธิษฐานจิต “ขอให้มีปัญญาแหลมเหมือนเข็ม” (ส. พลายน้อย) เพื่อให้มีสติปัญญา และไหวพริบที่ฉลาดเฉลียว เฉียบแหลม สามารถแทงทะลุปัญหาและอุปสรรค์นานัปการให้ผ่านพ้นจนสำเร็จเสร็จสิ้นทั้งในเรื่องของการศึกษาเล่าเรียน ตลอดจนการนำเอามาใช้ในการดำเนินชีวิต และความหมายที่แฝงไว้อีกประการหนึ่งคือ ความหวานของเกสรดอกเข็มนั้น หมายดังว่าความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาเล่าเรียนมานั้น จะสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตอย่างมีความผาสุก ร่มเย็น ประสบความสำเร็จตามความมุ่งมาดปรารถนาอย่างฉ่ำหวาน เช่นดั่งรสชาติอันฉ่ำหวานของเกสรดอกเข็ม

 

     “งาม ดอกเข็ม ช่อไหว้ กราบกราน
อุปัชฌายาจารย์ ทั่วหล้า
ปัญญาเฉียบแตกฉาน ดั่งว่า แหลมคม
ประโยชน์รู้แกร่งกล้า รสล้ำฉ่ำหวาน”

 

          หญ้าแพรก มีชื่อสามัญคือ Burmuda Grass และชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cynodon dactylon (L.) Pers.วงศ์ POACEAE หรือ GRAMINEAE ลักษณะของหญ้าแพรกนั้นเป็นพืชที่มีความอดทนต่อสภาวะอันทนได้ยากของสภาพดินฟ้าอากาศ ไม่ว่าจะแดดร้อน ลมแรง แห้งแล้งฝน น้ำ เพียงใด หรือแม้แต่ในฤดูน้ำหลาก จะท่วมเนินนานวันเช่นใด หญ้าแพรกยังคงสามารถมีชีวิต เจริญเติบโตแตกแขนงยอดใหม่ และแพร่ขยายพันธุ์ต่อไปได้ เป็นข้อเตือนใจได้ข้อหนึ่งว่า ให้ศิษย์นั้นมีความอดทนต่อความยากลำบากแห่งการศึกษาหาความรู้ อดทนต่อกรอบกฎเกณฑ์ และระเบียบวินัยที่ดีงามควรค่าแก่การยึดถือปฏิบัติ อดทนต่อคำว่ากล่าวตักเตือนของครูอาจารย์ผู้สอน และให้มีความขยันหมั่นเพียร มุมานะพยายาม มีความขวนขวายในการศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จอย่างเต็มกำลังความสามารถ เป็นพันธุ์ไม้อธิษฐานจิต “ขอให้รู้รวดเร็วเหมือนหญ้าแพรกขึ้น” (ส. พลายน้อย) ให้มีความรู้ที่แตกฉาน เช่นเดียวกับหญ้าแพรกที่สามารถเจริญแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างกว้างขวาง และรวดเร็ว

 

     “อธิษฐาน หญ้าแพรก ไหว้สา
ครุอุปัชฌาย์ แห่งข้า
ให้รู้รอบปัญญา ฉลาด เฉลียว
แตกแพร่แขนงกล้า ทั่วพื้นแดนดิน”

        

 

          ศิษย์ที่จะประสบความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียนนั้น อย่าได้ลืมเลือนเสียซึ่งความสำคัญของพรรณไม้บูชาครูทั้งสามชนิดนี้ ที่ใช้เป็นสิ่งแทนพระคุณของครูบาอาจารย์ และแสดงถึงความกตัญญูของศิษย์ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความอดทน และความขยันหมั่นเพียรสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะทำให้เหล่าศิษย์ได้มีวิชาความรู้ความสามารถ เฉลียวฉลาด และสำเร็จการศึกษาตามความมุ่งมาดปรารถนา พร้อมทั้งสามารถนำเอาวิชาความรู้ต่างๆ เหล่านั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และพัฒนาประเทศชาติไทยให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป

 

กวีศิลป์   คำวงค์

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย