สมิงเชียงดาว ความงามที่เหลือแค่ชื่อ

  • 31/01/2020
  • จำนวนผู้ชม 1,822 คน

          สมิงเชียงดาว ชื่อนี้สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้คลุกคลีในแวดวงกีฎวิทยา คงไม่คุ้นเคยเท่าไหร่ แต่สำหรับชาวกีฏวิทยา ชื่อสมิงเชียงดาว ถือเป็นชื่อของผีเสื้อที่ถือว่าเป็นตำนาน ปัจจุบันสามารถพบเห็นผีเสื้อชนิดนี้ได้แค่ในหนังสือ หรือในกรอบรูปผีเสื้อสต๊าฟของนักสะสมผีเสื้อหายากเท่านั้น

          ผีเสื้อสมิงเชียงดาวเป็นชนิดย่อยของผีเสื้อภูฏาน ผีเสื้อในกลุ่มนี้มีทั้งหมด 4 ชนิดส่วนใหญ่พบในเขตเทือกเขาสูงในประเทศ ภูฏาน เนปาล จีน พม่า และในประเทศไทยพบที่ดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่แห่งเดียวเท่านั้น เนื่องจากแหล่งที่พบมีแหล่งเดียวในประเทศไทย และสีสันที่สวยงามแปลกตา ทำให้เป็นที่ต้องการของนักสะสม ทำให้ชาวบ้านนิยมจับมาขาย จนได้ฉายาว่า “แบงก์ร้อยบินได้” ทำให้จำนวนของสมิงเชียงดาวบนดอยหลวงเชียงดาวลดลงเป็นจำนวนมาก ตลอดจนพืชอาหารที่ตัวหนอนของผีเสื้อสมิงเชียงดาวถูกทำลายลงไป ด้วยไฟป่า และการบุกรุกทำลายป่าของมนุษย์ จึงเชื่อว่า ปัจจุบันผีเสื้อชนิดนี้ได้สูญพันธุ์จากประเทศไทยไปแล้ว

          การสูญเสียผีเสื้อสมิงเชียงดาวในครั้งนั้น น่าจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า นอกจากเราได้สูญเสียความงามที่ธรรมชาติสรรสร้างมาเพื่อโลกใบนี้ ยังได้สูญเสียกลไกที่สำคัญของระบบนิเวศลงไปอีก และมนุษย์ที่เรียกตัวเองว่า เป็นสัตว์ประเสริฐยังรังแกธรรมชาติที่ให้ลมหายใจกับตัวเองอยู่ทุกวัน เรายังคงพบข่าวการตัดไม้ทำลายป่า บุกรุกป่าสงวนเพื่อล่าสัตว์อยู่ตลอด อย่างไรก็ตามนักวิจัยและนักอนุรักษ์ต่างทำหน้าที่อย่างหนักเพื่อต่อลมหายให้กับโลกใบนี้ แต่คนกลุ่มเล็กๆ เหล่านี้จะช่วยต่อลมหายใจให้กับโลกไม่ได้เลย หากขาดความเข้าใจและความร่วมมือจากคนธรรมดาอย่างพวกเรา

อ้างอิงข้อมูล : http://www.siamsouth.com

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย