โปรตีน...แมลงจิ๋ว

  • 12/05/2020
  • จำนวนผู้ชม 1,266 คน

 “โปรตีน แมลงจิ๋ว”

            สำหรับคนรักสุขภาพเชิญทางนี้เลยนะครับ อุทยานหลวงราชพฤกษ์มีแมลงดีๆ ที่มีประโยชน์ให้ท่านได้รับประทานกันแบบปลอดภัย ได้สารอาหารครบถ้วนกันไปเลยครับ นับตั้งแต่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประกาศให้ชาวโลกรู้กันทั่วว่า จิ้งหรีดแมลงตัวเล็กแต่มีโปรตีนขนาดมหาศาล จึงได้รับความนิยมในการบริโภคกันอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้จิ้งหรีดในบ้านเราที่เคยเป็นแค่อาหารของคนตามพื้นบ้านชนบทที่มักนำมาทอด คั่ว แต่ตอนนี้ได้ถูกพัฒนาดัดแปลงนำมาทำเป็นเมนูต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลาบ อาหารกระป๋อง ไปจนถึงการนำไปทำแป้งเพื่อเป็นส่วนผสมของขนมปัง เบเกอรี ส่งไปขายต่างประเทศกันเลยทีเดียว

           จิ้งหรีดนั้นเป็นแมลงขนาดเล็ก เหมาะสำหรับเลี้ยงไว้ใต้ถุนบ้านหรือในโรงเรือนว่างเปล่าที่ไม่มีการใช้งาน แต่การทำโรงเรือนสำหรับจิ้งหรีดก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เป็นที่สำหรับกันแดดและฝน เพราะจิ้งหรีดเป็นแมลงที่บอบบาง อ่อนไหวง่าย เมื่อถูกแดด หรืออยู่ในที่ที่อุณหภูมิสูงเป็นเวลานานจะทำให้ตายได้ หรือแม้แต่ในที่ที่มีความชื้นสูง เมื่อเจอฝนมากก็ตายได้เหมือนกัน ดังนั้น โรงเรือนที่ทำควรมีความโปร่ง อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงจิ้งหรีด คือ อุณหภูมิไม่เกิน 35 องศาเซลเซียส หากร้อนกว่านั้นการควบคุมอุณหภูมิจะทำได้ยาก ต้องช่วยระบายความร้อนโดยการเปิดพัดลมให้อากาศถ่ายเท หรือติดสปริงเกอร์บนหลังคาโรงเรือนเพื่อเป็นการลดและระบายความร้อนออกจากโรงเรือน

          วิธีการเลี้ยงจิ้งหรีดนั้นง่ายมากครับ เริ่มจากการเพาะไข่ โดยนำจิ้งหรีดเพศเมียโตเต็มวัย (วัยก่อนจับขาย) นำไปใส่ในบ่อเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด จากนั้นเตรียมขันสำหรับวางไข่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 18 เซนติเมตร ให้ใส่แกลบเผา ขุยมะพร้าว ดิน น้ำ คลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นนำไปวางในบ่อเลี้ยง จิ้งหรีดจะรู้เองว่าเป็นที่ที่เหมาะสำหรับการวางไข่

          หลังจากจิ้งหรีดวางไข่ในขันแล้ว ให้เก็บขันทั้งหมดไปวางไว้รวมกัน แล้วนำผ้าคลุมไว้ประมาณ 5-7 วัน ไม่นานจิ้งหรีดจะฟักจากไข่ออกมาเป็นตัวเล็กๆ เป็นจุดเริ่มต้นของพันธุ์จิ้งหรีดที่จะใช้เลี้ยงในรุ่นต่อไป
          อุปกรณ์เลี้ยงจิ้งหรีดที่ต้องลงทุนในระยะแรกคือ บ่อเลี้ยง แผงไข่ อุปกรณ์ให้น้ำ เป็นการลงทุนถาวร ส่วนอุปกรณ์การเลี้ยงที่เป็นต้นทุนทุกครั้งเมื่อถึงรอบจับทุก 45 วัน คือ อาหารสำเร็จรูป ซึ่งหากไม่ใช้อาหารสำเร็จรูป ก็สามารถใช้พืชตระกูลหัวในการเลี้ยงจิ้งหรีดได้เช่นกัน แต่ต้องเป็นพืชที่ปลอดสารเคมี เช่น หัวมันสำปะหลัง ลำต้นมันสำปะหลัง ใบมันสำปะหลัง ฟักทอง ใบฟักทอง เป็นต้น ส่วนแผงไข่ ใช้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของจิ้งหรีด ควรปราศจากความชื้น หากชื้นหรือผุพัง ก็ต้องเปลี่ยนแผงไข่ใหม่ อาจจะเปลี่ยนเฉพาะแผงที่ชำรุด เพื่อลดต้นทุนการผลิตได้ พันธุ์ที่นิยมเลี้ยงเพื่อการบริโภค คือ พันธุ์จิ้งหรีดขาวหรือแมงสะดิ้ง พันธุ์ทองแดงลาย และพันธุ์ทองดำ

         อุทยานหลวงราชพฤกษ์ นำโดยคุณครูพี่พงษ์ นายปิยะพงษ์ มีปัญญา นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา เปิดสอนหลักสูตรระยะสั้นเกี่ยวกับการเลี้ยงจิ้งหรีดภายในครัวเรือน ให้กับบุคคลที่สนใจทั่วไปได้ หรือแวะชมศึกษาได้ที่สวนเกษตทฤษฎีใหม่ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 053 114 195 กลุ่มวิชาการและการเรียนรู้ อุทยานหลวงราชพฤกษ์

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย