ฝนหลวง : ฝนของในหลวง

  • 18/05/2020
  • จำนวนผู้ชม 3,403 คน

ฝนหลวง : ฝนของในหลวง

          หากเอ่ยคำว่า “ฝนหลวง” ผู้เขียนเชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักชื่อนี้ แต่จะมีใครรู้หรือไม่ว่าจุดเริ่มต้นและขั้นตอนในการทำฝนหลวงนั้นมีความเป็นมาและมีวิธีการอย่างไร วันนี้เรามาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ทรงมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙ ตอนหนึ่งว่า

“...เรื่องฝนเทียมนี้เริ่มตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๙๘ แต่ยังไม่ได้ทำอะไรมากมาย

เพราะว่าไปภาคอีสาน ตอนนั้นหน้าแล้ง เดือนพฤศจิกายน ที่ไปมีเมฆมาก อีสานก็แล้ง

...แต่มาเงยดูท้องฟ้ามีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไงจะดึงเมฆนี่ให้ลงมาได้

ก็เคยได้ยินเรื่องทำฝน ก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้ มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้...

          ระยะเริ่มต้น ฝนหลวงรู้จักกันในชื่อ “ฝนเทียม” ซึ่งมี ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้รับสนองพระราชดำริศึกษาค้นคว้า ทดลอง และจัดตั้งเป็น “โครงการค้นคว้าทดลองการทำฝนเทียม” ซึ่งใช้ระยะเวลากว่า ๑๔ ปี จึงเกิดการทดลองทำฝนเทียมขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๑๒ ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

          ย้อนกลับไปเมื่อตอนที่ผู้เขียนยังเป็นเด็ก ซึ่งคิดมาเสมอว่าฝนหลวงหรือฝนเทียมเกิดมาจากการที่นำน้ำเป็นจำนวนมากขึ้นไปบนเครื่องบิน แล้วโปรยน้ำเหล่านั้นลงมาจากท้องฟ้า แต่ความเป็นจริงนั้น การทำฝนหลวงยากและซับซ้อนกว่าที่คิด เพราะต้องอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงประเมินสภาพอากาศของพื้นที่ที่จะทำฝนหลวง แล้วทำการโปรยสารเคมีต่าง ๆ ในท้องฟ้า เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาจนก้อนเมฆกลั่นตัวเป็นน้ำฝนในที่สุด

          โดยขั้นตอนการทำฝนหลวงมีอยู่ ๓ ขั้นตอนคร่าว ๆ ดังนี้

  1. ก่อกวน : ทำให้เกิดเมฆจำนวนมากและรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน
  2. เลี้ยงให้อ้วน : เพิ่มขนาดเมฆให้ใหญ่ขึ้น
  3. โจมตี : เร่งให้เมฆก่อตัวเป็นฝน

         ปัจจุบัน หน่วยงานที่ดูแลโครงการฝนหลวง คือ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนอกจากจะทำฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งแล้ว ยังคอยช่วยเหลือในการลดปัญหาหมอกควัน PM 2.5 และหมอกควันที่เกิดจากไฟป่าอีกด้วย

         นับเป็นพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ทรงห่วงใยและทุ่มเท      พระวรกายในการศึกษาค้นคว้า รวมทั้งทดลองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง เพื่อให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าได้อยู่ดีมีสุขจวบจนทุกวันนี้

         สำหรับท่านที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับ “โครงการฝนหลวง” สามารถเข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่ นิทรรศการบัวบาทยาตรา และ ห้องสมุด ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ โดยเปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๘.๐๐ น. ค่ะ.

แหล่งข้อมูลอ้างอิง 

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ.  ตามรอยพ่อ ก-ฮ.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี, ๒๕๕๕.

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร.  (ม.ป.ป).  ต้นกำเนิดโครงการพระราชดำริฝนหลวง.  (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://www.royalrain.go.th/royalrain/Editor_Page.aspx?MenuId=15. [๑๕ เมษายน ๒๕๖๓]

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย