“เติมเห็ดให้ป่า...แก้ปัญหาฝุ่นควัน”

30/09/2020      จำนวนผู้เข้าชม 1119 คน

      “เติมเห็ดให้ป่า...แก้ปัญหาฝุ่นควัน” จากปัญหาฝุ่นควันไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย มักจะถูกมองว่าเกิดจากการเก็บหาของป่า โดยเฉพาะการเก็บ “เห็ดเผาะหรือเห็ดถอบ” ที่มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า “ต้องเกิดไฟไหม้ก่อนเห็ดถึงจะออก” ซึ่งคนเฒ่าคนแก่ในสมัยก่อนใช้การสังเกตลักษณะของพื้นที่ที่พบเห็ด โดยพบว่าหลังจากที่มีไฟไหม้ป่าจะพบเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบในพื้นที่จำนวนมาก ทำให้มีการบอกต่อกันมา โดยในความเป็นจริงนั้นเห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตที่เจริญเป็นเส้นใย หากโดนความร้อนทำลายก็สามารถที่จะตายได้ เมื่อเกิดไฟไหม้เป็นระยะเวลานานเห็ดกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ทำให้ปริมาณเห็ดป่าในธรรมชาติลดลง และยังเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาหมอกควันตามมาในทุกๆ ปี

      สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้คิดแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อลดการเผาหรือเหตุไฟไหม้ที่ลดลง จึงเกิดแนวทางการเพาะเชื้อเห็ดขึ้นมา หรือที่เรียกว่า “การเติมเห็ดให้ป่า” โดย “สำนักวิจัย” สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้นำองค์ความรู้มาต่อยอดและเผยแพร่ไปยังเกษตรกรบนพื้นที่สูง อีกทั้ง..ยังได้นำองค์ความรู้มาเผยแพร่ให้กับเกษตรกรและนักเรียนที่เข้ามาเรียนรู้ในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ อีกด้วย ซึ่งการเผยแพร่องค์ความรู้ เรื่อง “การเติมเห็ดให้ป่า” ในครั้งนี้ ได้มี ดร.จารุณี ภิลุมวงค์ นักวิจัย 5 และว่าที่เรือตรีศุลิเชษฐ์ ทองกล่ำ เจ้าหน้าที่โครงการ จากสำนักวิจัย (สวพส.) เป็นผู้ให้ความรู้และได้สาธิตวิธีการเตรียมหัวเชื้อเห็ดป่า การใส่หัวเชื้อเห็ดป่าลงในกล้าไม้ รวมไปถึงการเติมเชื้อเห็ดให้กับไม้ป่าที่เป็นพืชอาศัย และการสร้างรังปลวกจำลองเพื่อเพาะเห็ดโคนป่าหรือเห็ดปลวกที่สวน “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง”

       เนื่องจากในสวน “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” มี “ไม้วงศ์ยาง” อาทิ..ยางนา พะยอม ตะเคียนทอง เต็ง เเละจันทร์กะพ้อ ซึ่งเป็นพรรณไม้ที่เป็นพืชอาศัยของเห็ดป่าที่สามารถนำหัวเชื้อเห็ดป่ามาใส่ได้ โดยในครั้งนี้ได้นำหัวเชื้อเห็ดป่ากลุ่มไมคอร์ไรซ่า (ได้แก่ เห็ดเผาะ เห็ดไข่ เห็ดแดง เห็ดหล่ม และเห็ดห้า) นำมาเติมให้กับป่า สำหรับการเติมเชื้อเห็ดสามารถใส่ได้ตั้งแต่ต้นฤดูฝนไปจนถึงปลายฤดูฝน เพราะเป็นช่วงที่ต้นไม้กำลังเจริญเติบโตและมีความชุ่มชื้นเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ด โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ก็จะมีเห็ดให้เก็บไปกินได้ ทั้งนี้..หากเราใช้วิธีการทางชีวภาพในการจัดการปัญหาฝุ่นควันไฟป่าที่ต้นตอของปัญหาจะเป็นการช่วยให้ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ยังคงอยู่ รวมทั้งสร้างความสมดุลในระบบนิเวศให้กลับฟื้นคืนมา นอกจากนี้ยังทำให้เรามีแหล่งอาหารจากป่าที่อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และจะเป็นการแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟป่าได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

      สำหรับหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษาแห่งไหนที่ต้องการเรียนรู้เรื่องการ “เติมเห็ดให้ป่า” สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ทางเพจ “ราชพฤกษ์ สคูล” หรือ โทร 053-114195 กลุ่มวิชาการและการเรียนรู้ (ตามวันเวลาราชการ)

 

เราลองมาดูแนวทางเพื่อให้นำไปใช้ตามความเหมาะสมของพื้นที่และบริบทของชุมชนกันที่:

https://www.hrdi.or.th/Articles/Detail/45


มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย