โครงการขยายพันธุ์ข้าวพระราชทาน จากพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2566

16/06/2023      จำนวนผู้เข้าชม 787 คน

อุทยานหลวงราชพฤกษ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้จัดทำโครงการขยายพันธุ์ข้าวพระราชทานจากพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2566 ณ สวนเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยมีนักเรียนในโรงเรียนเครือข่าย คณะกรรมการสถานศึกษาและชุมชนในพื้นที่ของแต่ละโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนและชุมชนได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาและความสำคัญของพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ สืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นและพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของการปลูกข้าวในวิถีล้านนา อีกทั้งนักเรียนยังได้เกิดกระบวนการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติผ่านขั้นตอนการปลูกข้าวแบบปักดำ ตั้งแต่การหว่านกล้า ปักดำ การดูแลรักษา จนถึงการเก็บเกี่ยว ที่จะช่วยปลูกฝังความรักในธรรมชาติ เห็นความสำคัญของอาชีพเกษตรกรรม เรียนรู้การมีวินัย เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านกิจกรรมดังกล่าว

 

ในวันที่ 9 มิถุนายน 2566 องคมนตรีอำพน กิตติอำพน ที่ปรึกษาพิเศษคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการอุทยานหลวงราชพฤกษ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการขยายพันธุ์ข้าวพระราชทาน จากพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2566 และมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน จำนวน 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ขาวดอกมะลิ 105 และ กข6 ให้แก่โรงเรียนเครือข่าย 4 แห่งของอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ได้แก่ โรงเรียนบ้านตองกาย โรงเรียนบ้านแม่เหียะสามัคคี โรงเรียนบ้านฟ่อน และโรงเรียนศิริมังคลาจารย์

 

และเมื่อวันที่ 13-14 มิถุนายน 2566 น้องๆ จากโรงเรียนเครือข่าย 4 แห่งได้หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวในแปลงนาสวนเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อที่จะนำกล้าข้าวที่หว่านในครั้งนี้ไปปลูกในช่วงเดือนกรกฎาคมต่อไป และเมล็ดข้าวที่ได้จากการเก็บเกี่ยวจะถูกนำไปแจกจ่ายให้กับชุมชนเพื่อความเป็นสิริมงคลในการเพาะปลูกในปีถัดไป

ทั้งนี้ จะมีการติดตามและเก็บภาพบรรยากาศของน้องๆ จากโรงเรียนทั้ง 4 แห่งกับกิจกรรมดังกล่าวให้ได้เห็นแต่ละกระบวนการตั้งแต่เริ่มหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว การดูแลรักษา การเจริญเติบโต การเก็บเกี่ยวผลผลิต ฯลฯ

---------------------------

ข้อมูลพันธุ์ข้าวพระราชทานในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2566 ที่นำมาปลูกในแปลงนาที่สวนเกษตรทฤษฎีใหม่

1. พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 : เป็นข้าวเจ้า ทนแล้งได้ดีพอสมควร คุณภาพการสีดี คุณภาพการหุงต้มดี อ่อนนุ่ม มีกลิ่นหอม ทนต่อสภาพดินเปรี้ยว และดินเค็ม

2. พันธุ์ กข 6 : เป็นข้าวเหนียว ให้ผลผลิตสูงและทนแล้งดีกว่าพันธุ์เหนียวสันป่าตอง คุณภาพการสีดี คุณภาพการหุงต้มดี มีกลิ่นหอม ต้านทานโรคใบจุดสีน้ำตาล

 


มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย