23 มกราคม วันพระราชทานนาม “อุทยานหลวงราชพฤกษ์”
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามสถานที่แห่งนี้ว่า “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” โดย หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ได้ขอพระราชทานชื่อสวนซึ่งเป็นสถานที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 แห่งนี้ว่า “สวนหลวงราชพฤกษ์” ต่อมาท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ ปฏิบัติราชการแทนราชเลขาธิการ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสวนดังกล่าวว่า “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” และได้รับพระราชทานชื่อภาษาอังกฤษว่า “Royal Park Rajapruek” ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2553 เป็นต้นมา
.
ปัจจุบันอุทยานหลวงราชพฤกษ์ อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดยมีพันธกิจเป็นแหล่งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการตามแนวพระราชดำริ โครงการหลวงและการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน แหล่งเรียนรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี รวมทั้งให้บริการพื้นที่เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ความสัมพันธ์ในครอบครัว และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่
.
ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมาอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ได้ต่อยอดและรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพทั้งทรัพยากรพรรณไม้นานาชนิดจำนวนมากกว่า 23,000 รายการ และยังได้รับรองมาตรฐานสวนพฤกษศาสตร์ระดับสากล BGCI Botanic Garden Accreditation จาก Botanical Gardens Conservation International: BGCI ซึ่งเป็นเครือข่ายการอนุรักษ์พันธุ์พืชที่ใหญ่ที่สุดในโลก และได้รับการรับรองมาตรฐานระดับที่ 3 ในการเป็นสวนพฤกษศาสตร์หรือสวนรุกขชาติที่มีมาตรฐานและดำเนินงานระดับมืออาชีพอย่างแท้จริงจาก Arboretum Accreditation Program (ArbNet) ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับนานาชาติของสวนรุกขชาติ .. อุทยานหลวงราชพฤกษ์จึงเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตที่พร้อมให้นักเรียน เยาวชน และประชาชนได้เข้ามาเรียนรู้ถ่ายทอดผ่านกิจกรรมได้รับประสบการณ์และจุดประกายทางความคิดผ่านการลงมือทำที่หลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนรู้เกิดความเข้าใจและตระหนักถึงการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
.
อีกทั้งยังมีการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่องค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่างยั่งยืนในปี 2570 และเป็นพื้นที่ต้นแบบการจัดการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่างยั่งยืน โดยได้ขึ้นทะเบียนเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) และยังได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก ประจำปี 2567 (Climate Action Leading Organization: CALO) อีกด้วย
.
❣ ณ วันนี้อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติขนาดใหญ่ ส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Long Life Learning ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ส่งมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบ Low Carbon ให้กับผู้รับบริการทุกกลุ่มทุกช่วงวัย ซึ่งได้รับรางวัลการันตีจาก “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” (ททท.) กับรางวัล Hall of Fame (รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยประเภทแหล่งท่องเที่ยว สาขาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้) และรางวัลดีเด่น Thailand Tourism Silver Awards ประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืน อีกทั้งยังมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนอุทยานหลวงราชพฤกษ์มุ่งสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี พ.ศ.2570 และพร้อมเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเรียนรู้ที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป
:
อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่
เปิดให้ชมสวนทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น.
สอบถามเพิ่มเติม 053-114110-2
Share this Post :