23 มกราคม 2568 องคมนตรีอำพน กิตติอำพน ที่ปรึกษาพิเศษคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการอุทยานหลวงราชพฤกษ์ เป็นประธานเปิด “อาคารจำลองห้องทรงงานและชีวประวัติการถวายงานของหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง

01/02/2025      จำนวนผู้เข้าชม 96 คน

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 องคมนตรีอำพน กิตติอำพน ที่ปรึกษาพิเศษคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการอุทยานหลวงราชพฤกษ์ เป็นประธานเปิด “อาคารจำลองห้องทรงงานและชีวประวัติการถวายงานของหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง” เพื่อระลึกถึงพระกรุณาของหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ที่ทรงมีต่ออุทยานหลวงราชพฤกษ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) อีกทั้ง ยังเป็นแหล่งเผยแพร่และเรียนรู้พระประวัติ การทรงงาน และการถวายงานของหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา บุคลากรภาครัฐและเอกชน เกษตรกร ประชาชนทั่วไป และผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

ภายในอาคารได้มีการจำลอง 3 ส่วน

ส่วนที่ 1 : จำลองห้องรับแขก..จัดแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ทรงมอบและวางแนวทางให้กับอุทยานหลวงราชพฤกษ์ อาทิ นิทรรศการ หอคำหลวง การกราบบังคมทูลขอพระราชทานนาม สวนเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ว่า สวนหลวงราชพฤกษ์ แต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” และการวางแนวทางการจัดแสดงพรรณไม้และไม้กลุ่มสี การปลูกพืชยืนต้นหลากหลายชนิดเพื่อให้เกิดความสวยงามและความร่มรื่นภายในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ปัจจุบันอุทยานหลวงราชพฤกษ์จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านพืชสวน และพืชพื้นบ้าน ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและสวยงามแห่งหนึ่งของประเทศไทย

ส่วนที่ 2 : จำลองห้องทรงงาน..จัดแสดงการทรงงานที่เกี่ยวกับโครงการหลวง

ส่วนที่ 3 : จำลองห้องพักพระอริยาบท..จัดแสดงพระประวัติ จำลองห้องสมุด และจัดแสดงหนังสือที่ท่านทรงนิพนธ์

❣ พิกัดอาคาร : โซนเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 สามารถเดินจากสถานีต้นทางรถไฟฟ้าชมสวนประมาณ 50 เมตร อาคารอยู่ตรงข้ามนิทรรศการบัวบาทยาตรา (ก่อนถึงห้องสมุดและอาคารนิทรรศการโครงการหลวง)

----------

พระประวัติของ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ที่ทรงมีต่ออุทยานหลวงราชพฤกษ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)✨

หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงเป็นผู้ติดตามใกล้ชิด ถวายงานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 9 และเคยดำรงตำแหน่ง “ประธานมูลนิธิโครงการหลวง” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515-2560 ทำให้ชาวไทยภูเขามีอาชีพและรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน

จากความยั่งยืนบนพื้นที่สูง ท่านทรงเผยแพร่ความรู้ ความรักสู่คนพื้นราบ ทรงร่วมสร้างเกียรติประวัติให้กับประเทศไทยในการจัดงานงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 และก่อให้เกิดอุทยานหลวงราชพฤกษ์ในปัจจุบัน

หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ “หอคำหลวง” ในงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์ที่ทรงอัจฉริยภาพและทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานที่สุดในโลก ภายใต้แนวคิดว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย” ในการจัดสร้างอภิมหาสถาปัตยกรรมล้านนา “หอคำหลวง” สถาปัตยกรรมล้านนาที่ทรงคุณค่าและมีชื่อเสียงระดับโลก และ “หอคำหลวง” ยังคงอยู่เป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จนถึงปัจจุบัน

อีกทั้ง ท่านยังได้ขอพระราชทานชื่อสวนซึ่งเป็นสถานที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 แห่งนี้ว่า “สวนหลวงราชพฤกษ์” ต่อมาท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ ปฏิบัติราชการแทนราชเลขาธิการ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสวนดังกล่าวว่า “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” และได้รับพระราชทานชื่อภาษาอังกฤษว่า “Royal Park Rajapruek” ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2553 เป็นต้นมา เพื่อให้อุทยานหลวงราชพฤกษ์ เป็นสวนของพ่อที่นับเป็นสวนแห่งการเรียนรู้ขนาดใหญ่ ด้วยการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานโครงการหลวง โครงการตามแนวพระราชดำริและการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และเป็นสวนพักผ่อนสำหรับทุกคนในครอบครัว รวมทั้งเป็นพื้นที่เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่และประเทศ

หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงคอยห่วงใยและคอยให้คำชี้แนะในการพัฒนาอุทยานหลวงราชพฤกษ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้อย่างยั่งยืนมาโดยตลอด ทรงให้แนวคิดในการพัฒนาอุทยานหลวงราชพฤกษ์เป็นสวนแห่งการท่องเที่ยวและเรียนรู้ที่มีความร่มรื่นสวยงาม ด้วยการปลูกไม้ดอกยืนต้นและไม้กลุ่มสีเพื่อเพิ่มร่มเงา สร้างสีสันตามฤดูกาล การจัดสรรพื้นที่ของอุทยานหลวงราชพฤกษ์ให้ประกอบด้วยสวนดอกไม้ สวนเพื่อการพักผ่อน และสวนพฤกษศาสตร์ที่ให้ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อปลูกฝังให้เยาวชนตระหนักและรู้อนุรักษ์หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ

อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ขอสานต่อสิ่งที่ท่านได้ชี้แนะและจะมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับอุทยานหลวงราชพฤกษ์เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติขนาดใหญ่ที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ มีการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเรียนรู้ที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป


มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย