ต้นไม้ 1 ต้น เป็นมากกว่าที่คุณคิด..มาเรียนรู้ประโยชน์จาก "ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง" ฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า พัฒนาคน เพื่อชุมชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน ไปพร้อม ๆ กัน การปลูกป่า 3 อย่าง แต่ให้ประโยชน์ 4 อย่างนั้น ช่วยเติมเต็มธรรมชาติ อีกทั้งยังช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธาร ฟื้นฟูระบบนิเวศดินและน้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ร่มรื่น และต้นไม้ก็ยังเป็นไม้เศรษฐกิจ ไม้กินได้ ที่สามารถสร้างรายได้ให้อีกด้วย เรียกได้ว่า “พออยู่..พอกิน..พอใช้” กันเลยทีเดียว
ในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ ได้จัดแสดงศูนย์สาธิตองค์ความรู้การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ด้วยการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นแนวทางจัดการเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรดิน น้ำ ป่า พร้อมกับการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ได้มีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน โดยแบ่งพื้นที่การเรียนรู้ออกเป็น 4 โซนหลัก ได้แก่..
1. เรียนรู้ป่าเศรษฐกิจ พรรณไม้ที่สำคัญ ปลูกเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนโดยการจำหน่ายเป็นไม้เนื้อแข็งหรือไม้แปรรูป อาทิ สัก ยางนา มะค่าโมง ประดู่ ตะเคียนทอง พะยูง ชิงชัน เต็ง รัง กฤษณา จันทร์กระพ้อ จำปี จำปา อินทนิลน้ำ อินทนิลบก เป็นต้น
2. เรียนรู้ป่ากินได้ พรรณไม้ที่ปลูกแล้วสามารถรับประทานได้ โดยเฉพาะพรรณไม้ท้องถิ่น อาทิ มะม่วง ขนุน ขี้เหล็ก เพกา คอแลน ผักเฮือด สะเดา มะไฟ ผักเสี้ยว งิ้วป่า ไผ่ต่างๆ เป็นต้น
3. รู้จักพรรณไม้ใช้สอยไม้เชื้อเพลิง เป็นกลุ่มพรรณไม้โตเร็วที่สามารถนำมาใช้สร้างที่อยู่อาศัย โรงเรือนและเครื่องมือการเกษตร ตลอดจนใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ อาทิ สะเดาเทียม ตะกู เลี่ยน กระถินณรงค์ กระถินเทพา ยูคลิปตัส เป็นต้น
4. ฝายชะลอความชุ่มชื้น เรียนรู้วิธีการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นในรูปแบบต่างๆ ทั้งแบบชั่วคราว กึ่งถาวร และแบบถาวร ตลอดจนการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมตามศักยภาพของชุมชน ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ดินและฟื้นฟูทรัพยากรป่าและน้ำ ประโยชน์อย่างที่ 4 นั่นเอง
นอกจากนี้อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากป่า เช่น สีจากธรรมชาติ ชิมผลไม้ และอาหารป่า อีกทั้งยังมีทางเดินยกระดับ (Sky walk) ระยะทางกว่า 50 เมตร เพื่อให้ผู้เรียนรู้ได้สัมผัสถึงลักษณะชั้นเรือนยอดของพรรณไม้ชนิดต่างๆ ตลอดจนเรียนรู้ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตทั้งนก แมลง และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในป่าแห่งนี้อีกด้วย
แหล่งที่มา
: มูลนิธิชัยพัฒนา
: รวบรวมจากการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 053-114195 กลุ่มวิชาการและการเรียนรู้ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่
Share this Post :