ปัจจัย 4 ในยุค “COVID-19”

14/07/2020      จำนวนผู้เข้าชม 4191 คน

ปัจจัย 4 ในยุค “COVID-19”

ในวันที่สถานการณ์ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในทุกๆ ด้าน ไม่เพียงแต่เศรษฐกิจ สังคม แต่มันกระทบวิถีชีวิตปกติของเราให้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

แต่ในทุกวิกฤติที่ผ่านมา เราเชื่อเหลือเกินว่ามนุษย์เราสามารถข้ามผ่านสถานการณ์ต่างๆ มาได้ด้วยปัญญาและการปรับตัวเพื่อให้ได้มีชีวิตรอดในวิกฤติต่างๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์

ทีนี้เราลองมาดูกันว่าพื้นฐานของการดำรงชีวิตอยู่ได้ หรือที่เรียกกันว่า basic ของการใช้ชีวิตในยุค COVID-19 นี้ ปัจจัย 4 ใดบ้าง ที่จะนำพาเราให้อยู่รอดปลอดภัย และเราจะได้วิถีความปกติใหม่ในการใช้ชีวิตด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้

เริ่มจากที่อยู่อาศัยหรือที่เราเรียกกันว่า "บ้าน" นั่นเอง กระแสการเลือกที่อยู่อาศัยในยุคนี้ จะไม่เน้นไปที่ความสะดวกสบายแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะให้ความสำคัญลำดับต้นๆ กับประโยชน์ใช้สอย อาทิ บ้านที่เราอยู่อาศัยมีพื้นที่เพียงพอสำหรับการปลูกพืชผัก เพื่อการดำรงชีวิต หรือเพื่อลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอกบ้างหรือไม่ เพราะในสถานการณ์การเกิดโรคระบาดใหญ่ ที่ทุกคนต่างแย่งกันจับจ่ายใช้สอยกักตุนสินค้า ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ทรัพยากรต่างๆ เพื่อความอยู่รอดนั้น จากปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น เชื่อว่าทำให้ทุกคนได้ตระหนักกันมากขึ้นแล้วว่าทรัพยากรทุกอย่างเมื่อใช้แล้วย่อมมีวันหมดไป และมีอายุขัยของมัน หลายๆ อย่าง แม้มีเงินทองมากมาย แต่ก็ไม่สามารถซื้อหามาได้ ดังนั้น..เราควรต้องจัดการกับบ้านของเราอย่างไรเพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์และลดการพึ่งพาปัจจัยจากภายนอกลงไปได้บ้าง (แอบกระซิบก่อนว่าไม่ได้แนะนำให้ขายคอนโดแล้วมาปลูกบ้านบนที่ดินนะจ๊ะ..แต่คือการจัดสรรประโยชน์ในพื้นที่อย่างมีคุณภาพปรับตามหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่)

และหากจะพูดต่อไปเกี่ยวกับเรื่องอาหารในยุค COVID-19 ก็คงจะเห็นภาพชัดที่สุดว่าความมั่นคง และความปลอดภัยทางอาหาร(food safety) มีความสำคัญมาก การเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก การกินร้อน ช้อนส่วนตัว และล้างมือบ่อยๆ เป็นสิ่งที่จะไม่มีทางแยกขาดออกจากกันได้อีกต่อไป ตลอดจนกระแสการบริโภคนอกบ้านที่ผู้คนต่างลดความสนใจลงไปมากแม้จะมีการจัดโปรโมชั่นอย่างไรก็ตาม ก็ยังสู้การบริการอาหารแบบ delivery สำหรับสั่งมารับประทานที่บ้านไม่ได้ หรือบางครอบครัวที่ไม่แม้แต่จะสั่งบริการ delivery หรือซื้อกับข้าวถุง แต่เลือกวิธีการปรุงอาหารสุกที่บ้านเองเพื่อความปลอดภัย

ส่วนปัจจัยเครื่องนุ่งห่มนั้น ในยุคนี้พูดได้ว่าไม่เห็นใครไม่ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เราอยู่ในยุคที่การแสดงความจริงใจต่อคนรอบข้างทำได้ด้วยการสวมหน้ากากเมื่อออกจากบ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ดังนั้น การเลือกหน้ากากที่ใช้ย่อมขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่เราจะไปทำในแต่ละวันเพื่อให้เหมาะสมกับชีวิตประจำวันของเรา แรกเริ่มเดิมทีความต้องการใช้หน้ากากอนามัยมีอยู่มาก จนหลายหน่วยงานต้องให้ความรู้เพื่อเป็นทางเลือกประกอบว่าหน้ากากผ้าสามารถใช้ทดแทนได้กับคนที่ไม่มีความเสี่ยงว่าจะเป็นโรคฯ หน้ากากผ้าจึงได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ จนทุกวันนี้กลายเป็นแฟชั่นเครื่องแต่งกายที่ไม่ได้เน้นแค่ความสวยงาม แต่เน้นที่ประโยชน์ใช้สอยและความสามารถในการกรองเชื้อโรคและการระบายอากาศได้ดี และใช่จะ เราอยากแนะนำให้รู้จักกับหน้ากาก “ผ้าเฮมพ์” ที่ทำจากเส้นใยมหัศจรรย์จากเฮมพ์ หรือกัญชงนั่นเอง ส่วนจะมหัศจรรย์แค่ไหน ติดตามได้ในภาคต่อไปนะจ๊ะ‼️

มาถึงปัจจัยด้านสุดท้าย "ยารักษาโรค" วัคซีนเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมากๆ ในการขจัดโรคฯ นี้ให้หมดไป แต่เรายังต้องรอการทดลองให้วัคซีนมีประสิทธิภาพเสียก่อน ถึงจะวางใจได้ว่าเราจะปลอดภัยหากติดโรคฯ เราจะหาย เราจะมียารักษา แต่ในระหว่างนี้ที่ยังไม่มีวัคซีน เราจะอยู่อย่างไรเพื่อให้ปลอดภัย นอกจาก 3 ปัจจัยข้างต้นที่ว่ามาแล้วเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เรายังมีความโชคดีที่มีผู้รู้ด้าน “สมุนไพร” ที่สามารถใช้เป็นยา หรือมีสรรพคุณทางยาในการต้านไวรัสได้ เช่น ผักเชียงดา ฟ้าทลายโจร พลูคาว หอมแดง มะรุม หอมหัวใหญ่ ฯลฯ อีกมากมาย ไว้เดี๋ยวมาเล่าให้ฟังต่อจ้า

สิ่งเหล่านี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีไม่ได้เลย หากเราปราศจากซึ่งความรู้ ความเข้าใจ และไม่ได้ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นต้นแบบในการดำรงชีวิต กล่าวคือต้องมี ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันตัวที่ดี และต้องมีเงื่อนไขความรู้และคุณธรรมเป็นองค์ประกอบด้วยนะจ๊ะ

ที่เล่ามาเพียงแค่ต้องการเกริ่นไว้ก่อนว่าปัจจัย 4 ในยุค COVID-19 นี้ มีอะไรบ้าง..ขอทิ้งท้ายไว้อีกสักนิดจ้า ว่าอย่าลืมรักษาสุขภาพ และมีสุขอนามัยที่ดี ใช้ชีวิตแบบมีสติ มีความรับผิดชอบต่อสังคม ก่อนออกจากบ้านอย่าลืมสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเสมอ เว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัย (อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ ) และล้างมือบ่อยๆ ด้วยนะจ๊ะ หรือจำสโลแกนสั้นๆ ว่า "อยู่ห่างไว้ ใส่แมสกัน หมั่นล้างมือ" แล้วเราจะก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ฝากติดตามเรื่องราวดีๆ ใน ep. ต่อไปนะคะ


มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย