"ปลูกภูมิคุ้มกันในยุคโควิด ด้วยการดำรงชีวิตแบบพอเพียง" 

15/07/2020      จำนวนผู้เข้าชม 7933 คน

"ปลูกภูมิคุ้มกันในยุคโควิด ด้วยการดำรงชีวิตแบบพอเพียง" จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกในปัจจุบัน ทำให้หลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยประสบกับปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม หลายกิจการต้องหยุดดำเนินการชั่วคราวหรือร้ายแรงไปถึงขั้นต้องปิดกิจการไปไม่น้อย ส่งผลให้ผู้คนในหลากหลายอาชีพต้องประสบกับปัญหาการว่างงานและขาดรายได้เพื่อนำมาจุนเจือครอบครัว บ้างก็ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารเพื่อบริโภคในแต่ละวัน ถึงแม้จะมีการแบ่งปันในรูปแบบต่างๆ เช่น “ตู้ปันสุข” แต่ก็อาจไม่ทั่วถึงทุกครอบครัวหรือเพียงพอสำหรับบริโภคในแต่ละวัน การที่ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ อาจเป็นอีกหนึ่งหนทางออกสำหรับสถานการณ์นี้

เศรษฐกิจพอเพียง สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับ ทุกสาขา ทุกภาคของเศรษฐกิจ ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดเฉพาะแต่ภาคการเกษตร หรือภาคชนบท แม้แต่ภาคการเงิน ภาคอสังหาริมทรัพย์ และการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมีหลักการที่คล้ายคลึงกันคือ เน้นการเลือกปฏิบัติอย่างพอประมาณ มีเหตุมีผล และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเองและสังคม
การน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปฏิบัติใช้นับเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขเพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ดังนี้..

3 ห่วง ประกอบด้วย..
1. พอประมาณ หมายถึง ความพอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป และไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
การพอมีพอใช้ ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เช่น การซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เร่งด่วน การซื้อสินค้าออนไลน์ในช่วงโปรโมชั่น
2. มีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจจะต้องเป็นอย่างมีเหตุผล พิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆอย่างรอบคอบ เช่น การพิจารณาว่าสิ่งของที่ต้องการซื้อมีประโยชน์มากน้อยเพียงใดในการดำรงชีพ
3. มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หมายถึง การเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การวางแผนทางการเงิน การประหยัดอดออม เพื่อใช้ในเหตุเร่งด่วนในอนาคต

2 เงื่อนไข ประกอบด้วย..
1. ความรู้ คือ มีความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ในการดำเนินชีวิต เช่น การเรียนองค์ความรู้ต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น การเรียนหลักการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ผ่านบทความและคลิปวีดิโอออนไลน์
2. คุณธรรม คือ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน มีความขยันหมั่นเพียร และใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต เช่น การนำองค์ความรู้ที่ได้เรียนออนไลน์เกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ มาทดลองปฏิบัติในที่อยู่อาศัย ซึ่งอาจจะต้องใช้ความทั้งความขยันและความอดทนเป็นอย่างมาก เพราะบางท่านอาจไม่คุ้นเคยกับการทำเกษตรมาก่อน

ดังตัวอย่างที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีโครงการฝึกวิชาชีพตามรอยเกษตรทฤษฎีใหม่ “การปลูกผักเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารในยุคโควิด” ให้แก่ประชาชนหรือเกษตรกรผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อฝึกปฏิบัติการปลูกพืชผักไว้บริโภคในครัวเรือนแล้วผลผลิตที่ได้จากการโครงการฝึกวิชาชีพตามรอยเกษตรทฤษฎีใหม่ ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จะถูกนำไปแจกจ่ายให้สำหรับกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นับเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารอีกทางหนึ่ง

หากทุกคนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำรงชีวิตท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ก็จะทำให้ทุกคนมีความสุขยิ่งขึ้น เพราะอย่างน้อยจะมีอาหารบริโภคเพียงพอ มีรายจ่ายลดลง หากเข้มแข็งขึ้นจะพัฒนาเป็นอาชีพเสริมและอาชีพหลักได้ต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนก้าวข้ามผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปได้ด้วยดีพร้อมๆ กัน

แหล่งข้อมูล
www.chaipat.or.th
http://xn--12cmc4a2ea2ac8bl2czera7lj.net/
www.aommoney.com


มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย