"หน้ากากเฮมพ์"

15/07/2020      จำนวนผู้เข้าชม 1026 คน

ปัจจัย 4 ในยุคโควิด EP4.หน้ากากผ้าเฮมพ์ : เส้นใยมหัศจรรย์ ป้องกัน COVID-19 ในยุคที่โรคระบาดกำลังครองโลก และบนโลกที่ยังไม่มีวัคซีนในการรักษา แต่เรายังมี “หน้ากากผ้า” ที่จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับเราเพื่อให้สามารถอยู่รอดปลอดภัยในยุค COVID-19 ได้จ้า

แล้วรู้หรือไม่ว่าประเทศไทยเริ่มใช้หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้ามาตั้งแต่ตอนไหนกัน? วันนี้อุทยานหลวงราชพฤกษ์มีคำตอบมาให้จ้า >>> เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2463 ในสมัยของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม บรมราชชนก พระองค์ได้รับสั่งให้นำหน้ากากอนามัยมาใช้ทางการแพทย์เป็นครั้งแรกเพื่อป้องกันการติดเชื้อในขณะรักษาคนไข้และไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ต่อมาได้มีการนำหน้ากากอนามัยมาใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งการป้องกันมลพิษและการกรองฝุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา เราทุกคนต่างสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อออกจากบ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จนทุกวันนี้ หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าจัดได้ว่าเป็นปัจจัย 4 ประเภทเครื่องนุ่งห่มที่เราต้องมีเพื่อให้สังคมดีและมีชีวิตที่ปลอดภัย

ปัจจุบัน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ผลิตหน้ากากผ้าเฮมพ์รูปทรง 3D ที่มีคุณสมบัติแนบกระชับใบหน้า หายใจสะดวก ป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 โดยด้านหน้าเป็นผ้าเฮมพ์ ส่วนด้านในเป็นผ้าฝ้ายมัสลิน ความหนา 2 ชั้น มีช่องใส่ไส้กรองได้ ทั้งยังมีคุณสมบัติดีเยี่ยมในการป้องกันแบคทีเรีย ป้องกันรังสี UV ได้สูงถึง 95% ในขณะที่ผ้าประเภทอื่นๆ มีประสิทธิภาพในการป้องกัน UV ได้เพียง 30-50% เท่านั้น และยังสามารถป้องกันฝุ่นได้ สามารถดูดซับเหงื่อและความชื้นได้ดี แถมยังมีความสามารถในการระบายอากาศได้ดีอีกด้วย ทั้งยังมีความแข็งแรง สามารถใช้งานได้นานซักได้มากกว่า 60 ครั้งเลยทีเดียว ซึ่งสำหรับผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 หน้ากากเฮมพ์จึงเป็นหน้ากากผ้าที่เหมาะสวมใส่ในคนทุกเพศทุกวัยและสามารถสวมใส่ได้ในทุกโอกาส คุณสมบัติระดับพรีเมี่ยมขนาดนี้ อยากรู้กันแล้วใช่ไหมว่า “ผ้าเฮมพ์” คืออะไรและมีที่มาที่ไปจากไหนกัน?

>>> เฮมพ์เป็นพืชตระกูลเดียวกับกัญชาแต่มีปริมาณสารเสพติดน้อยกว่ามาก โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้พิจารณาข้อดีของเฮมพ์ ตัดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ออกไป ให้สามารถส่งเสริมเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ มูลนิธิโครงการหลวงร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาการปลูกและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเฮมพ์ขึ้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่า เมื่อเปรียบเทียบปริมาณเส้นใยจากการปลูกเฮมพ์และการปลูกฝ้ายในระยะเวลา 1 ปี ผลผลิตที่ได้จากการปลูกเฮมพ์ 10 ไร่ สามารถผลิตเส้นใยได้เท่ากับการปลูกฝ้ายถึง 20-30 ไร่ แถมเส้นใยเฮมพ์ยังยาวกว่าและมีโครงสร้างของเส้นใยที่มีความแข็งแรงกว่าทั้งยังมีคุณสมบัติความเหนียวทนทาน สามารถดูดซับความชุ่มชื้นได้เป็นอย่างดี และมีความสามารถในการระบายถ่ายเทอากาศได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อสวมใส่จะสามารถขับเหงื่อได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ เส้นใยเฮมพ์ยังมีส่วนประกอบของสารที่เอื้อประโยชน์กับสุขภาพ รวมทั้งมีความทนทาน และง่ายต่อการเก็บรักษา ทำให้ปัจจุบันผ้าเฮมพ์ถูกจัดว่าเป็นวัสดุชั้นดีเนื่องจากเฮมพ์ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีจนถูกขนานนามว่าเป็นสินค้าปกป้องสิ่งแวดล้อม ประกอบกับเส้นใยที่มีคุณภาพสูงจึงเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

รู้แบบนี้แล้วอย่าลืมไปหาหน้ากากผ้าเฮมพ์มาลองใส่กันนะจ๊ะ “ไม่ประมาท การ์ดอย่าตก” และ “ห่างกันไว้ ใส่แมสก์กัน หมั่นล้างมือ ถือหลักรักสะอาด ปราศจากแออัด” ด้วยความห่วงใยจาก อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่เจ้า


มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย