แถลงข่าวเทศกาลชมสวน 2563 ภายใต้แนวคิด ความสุข..จากยอดดอย

27/11/2020      จำนวนผู้เข้าชม 1813 คน

ความสุข..จากยอดดอย

เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 อุทยานหลวงราชพฤกษ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จัดงานแถลงข่าวเทศกาลชมสวน 2563 ภายใต้แนวคิด ความสุข..จากยอดดอย ณ เรือนกล้วยไม้ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ บรรยากาศภายในงานเริ่มด้วยการชมวีดีทัศน์เปิดตัวเทศกาลชมสวน2563 ต่อด้วยการแสดงชนเผ่าจากเยาวชนบนพื้นที่สูงในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน

จากนั้นเข้าสู่การแถลงข่าว โดย นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้กล่าวว่า “ตามที่ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้จัดเทศกาลชมสวน (Flora Festival) ขึ้นเป็นประจำทุกปีนั้น นับเป็นเทศกาลยิ่งใหญ่ประจำปีที่นักท่องเที่ยวต่างให้การรอคอยที่จะได้ชื่นชมความงามของไม้ดอกเมืองหนาวนานาชนิด สำหรับเทศกาลชมสวนปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ความสุข..จากยอดดอย” ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 – 28 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทย และเผยแพร่ผลสำเร็จการดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ที่ได้ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนบนพื้นที่สูง ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนงานโครงการหลวง โดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนา การบูรณาการการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนโครงการหลวงตามแผนแม่บท และการขยายผลสำเร็จของโครงการหลวงให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางเพื่อไปพัฒนาพื้นที่สูงอื่นๆ ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500 เมตร ขึ้นไป ซึ่งมีประมาณ 4,000 กลุ่มบ้าน และส่วนใหญ่ห่างไกล ทุรกันดาร มีปัญหาความยากจน และการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม โดยศึกษาวิจัยและสร้างองค์ความรู้ใหม่ สำหรับใช้พัฒนาพื้นที่สูงในสาขาต่างๆ เช่น พืชผัก ไม้ผล ไม้ดอก กาแฟ ชีวภัณฑ์เกษตร เป็นต้น ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ทุกวันนี้ชุมชนบนพื้นที่สูงมีความสมบูรณ์ด้วย ความรัก ความสุข และความสวยงาม จึงพร้อมส่งต่อ “ความสุข..จากยอดดอย” มายังประชาชนชาวไทย ด้วยพรรณไม้สวยงาม อาหารปลอดภัย และนิทรรศการองค์ความรู้ในเทศกาลชมสวน 2563”   

ทางด้าน นายภูธาดล ธีรอธิยุต รองผู้อำนวยการอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ได้กล่าวต่อว่า “สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวงานในปีนี้ จะได้รับความสุขที่ส่งต่อมาจากยอดดอยสูง ความสุข..จากยอดดอยที่นักท่องเที่ยวจะได้รับอันดับแรกนั้น คือ ความสวยงามของไม้ดอกเมืองหนาวนานาพรรณจากฝีมือการปลูกของเกษตรกรบนพื้นที่สูงจากมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบ  โครงการหลวงในแต่ละพื้นที่ของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ที่จะบรรจงจัดแสดงบนพื้นที่กว่า 470 ไร่ พร้อมใจกันเบ่งบานงดงามเต็มสวน ให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมและประทับใจตลอดการจัดงาน ดอกไม้สวย..นักท่องเที่ยวประทับใจ และใครที่มาเที่ยวงานยังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูงอีกด้วย สำหรับจุดไฮไลท์ของสวนที่ไม่ควรพลาด ได้แก่

  • เรือนกล้วยไม้ ที่ไม่ว่าจะมองมุมไหนก็สวยและสดชื่นไปหมด มีทั้ง กล้วยไม้ฟาแลนนอปซิส  แวนด้า  ม็อคคาร่า แอสโคเซ็นด้า ฯลฯ  แถมยังมีรถล้อเลื่อนไม้ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวเขาที่ดัดแปลงมาจากรถเข็นผลผลิตการเกษตร ปัจจุบันนิยมใช้ในประเพณีการละเล่นของชาวเขาเผ่าม้งที่เราเคยได้ยินชื่อเรียกกันว่า “ฟอร์มูล่าม้ง”  เป็นพร็อพถ่ายรูปสวยๆ อีกด้วย

  • เรือนไม้ดอก..เต็มไปด้วยไม้ดอกเมืองหนาวหลากหลายชนิด และเป็นสวนที่จะจัดแสดงดอกทิวลิปหลากสีสันกว่า 2 หมื่นต้น ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

  • สวนลานต้อนรับ เพลิดเพลินใจไปกับดอกไม้งามหลากหลายสีสันจากเกษตรกรบนพื้นที่สูงที่ได้บรรจงตกแต่งสวนดอกไม้ให้เป็นลวดลายผ้าสไตล์ชาวเขา ชมประติมากรรมไม้ดอกเมืองหนาว และซุ้มหมอกเมืองหนาว

  • โดมกุหลาบ ชมกุหลาบสายพันธุ์โครงการหลวง

  • สวนนานาชาติประเทศเนเธอร์แลนด์ จัดสวนสไตล์เคอเคนฮอฟ โดยมีการผสมผสานความเป็นไทย

 

ความสุข..จากยอดดอย อย่างที่สอง นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้องค์ความรู้ที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนผ่านนิทรรศการและกิจกรรมความสุข..จากยอดดอย ไม่ว่าจะเป็น

  • กิจกรรมเรียนรู้ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวบนพื้นที่สูง ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.2563 – 4 ธ.ค.2563

  • นิทรรศการ “จอมราชย์ ปราชญ์แห่งดิน” ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.2563 – 6 ธ.ค.2563

  • นิทรรศการสมุนไพรบนพื้นที่สูง : Herb & Healthy สุขภาพดีด้วยวิถีล้านนา สืบสานภูมิปัญญา ทรงคุณค่าสมุนไพรไทย ระหว่างวันที่ 11 – 15 ก.พ.2564

  • ค่ายสำรวจธรรมชาติสำหรับเยาวชน ทุกวันเสาร์ สัปดาห์ที่ 4 ของเดือน (พ.ย.2563 – ก.พ.2564)

 

ความสุข..จากยอดดอย อย่างที่สาม ช้อป ผัก ผลไม้ ผลผลิตปลอดภัยจากเกษตรกรบนพื้นที่สูงในตลาดนัดชาวดอย ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ณ อาคารตลาดนัดชาวดอย

 

ความสุข..จากยอดดอย อย่างที่สี่ นักท่องเที่ยวจะได้รับรู้ถึงความภาคภูมิใจในศิลปะและวัฒนธรรมชนเผ่าผ่านกิจกรรมการแสดงจากเยาวชนบนพื้นที่สูง งานสาธิตหัตถกรรมชนเผ่า ฯลฯ

 

ความสุข..จากยอดดอย อย่างที่ห้า ลิ้มลองกาแฟ 7 ยอดดอย ได้แก่

1.กาแฟดอยวาวี (ดอยช้าง) อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

2.กาแฟบ่อเกลือ (ห้วยโทน) อ.บ่อเกลือ จ.น่าน

3.กาแฟดอยลาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่

4.กาแฟดอยแม่สลอง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

5.กาแฟดอยปางมะโอ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

6.กาแฟแม่สอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

7.กาแฟสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และเมนูเครื่องดื่มสีสันพรรณไม้ที่ร้าน HRDI CAFE

 

พร้อมสนุกกับกิจกรรมท่องเที่ยวสุดสนุกอีกมากมายที่จะทำให้ทุกท่านได้เพลิดเพลินสุขใจตลอดงาน ไม่ว่าจะเป็น สนุกกับการถ่ายรูป 3 มิติ ด้วยเทคโนโลยี AR ตามสวนหน่วยงานภาคี/ กิจกรรม Walk Rally ตามหา“พรรณไม้เมืองหนาว” / กิจกรรมเรียนรู้การทำสบู่ กลิ่นกุหลาบและกลิ่นเจอราเนียม อีกทั้งยังมีบริการให้เช่าชุดชนเผ่าบนพื้นที่สูง สวมใส่ถ่ายรูปสวยๆ ราคาเริ่มต้นที่ 150 บาท ไม่ต้องไปไกลถึงบนดอยก็มีชุดชนเผ่าบนพื้นที่สูงให้ใส่ถ่ายรูปกับสถานที่สวยๆ ในงานอีกด้วย

 

พบกับไฮไลท์สุดพิเศษกับ งานโครงการหลวง 2563 ระหว่างวันที่ 21-24 ธันวาคม 2563 ชมนิทรรศการ "จากดินแดนฝิ่น สู่แผ่นดินทอง"/ แนะนำพืชผล และผลิตภัณฑ์ใหม่ของโครงการหลวง / สนุกสนานเพลิดเพลินกับกิจกรรม "ฐานเรียนรู้ โครงการหลวง” / ชมการสาธิตอาหารจากผลผลิตโครงการหลวง โดยเชฟและดารารับเชิญ / ช้อปสนุกกับผลิตภัณฑ์สุขภาพของโครงการหลวงและดอยคำ *ยกเว้น...ค่าบัตรผ่านประตูตลอดงานโครงการหลวง 2563”

 

ต่อด้วย ตัวแทนเกษตรกรบนพื้นที่สูง นำโดย นายยุทธชัย แซ่ลี  ตัวแทนเกษตรกรไม้ดอกโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงดอยปุย ได้กล่าวว่า “บ้านม้งดอยปุย เป็นแหล่งท่องเที่ยวมานานตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน จากที่เมื่อก่อนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชม ศิลปะ ประเพณี วัฒนธรรมและไม้ดอกเมืองหนาวที่ส่วนใหญ่ผลิตจากหน่วยงานภายนอก แต่เมื่อมีโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงดอยปุย ก็มีการผลิตไม้ดอกเองมากยิ่งขึ้นเพื่อสามารถปลูกและส่งให้อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ส่งภายในชุมชนและส่งตลอดภายนอก ซึ่งการทำอาชีพเกษตรกรรมไม้ดอกนี้ ทำให้นายยุทธชัย ได้กลับมาอยู่บ้านพร้อมกับครอบครัว ในช่วงแรกได้ปลูกพืช ปลูกผัก รวมถึงไม้ดอกชนิดต่างๆ จนเกิดเป็นความสุขที่ได้ทำอาชีพนี้ เพราะชื่นชอบ ทำในสิ่งที่เราชอบ โดยส่วนตัวมีความสุขที่ปลูกไม้ดอกเสร็จ มีความสวยงามเราก็มีความสุข แล้วส่วนหนึ่งเรานำไปจัดแสดงในจัดสวนแล้วนักท่องเที่ยวเข้ามาเห็นไม้ดอกของเราสวย เขามีความสุข มันก็เป็นการเพิ่มความสุขให้กับเราให้มากยิ่งขึ้น”

ต่อด้วย นายไตรภพ แซ่ย่าง ตัวแทนเกษตรกรไม้ผลโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงดอยปุย “ดอยปุยในอดีต เป็นพื้นที่สำหรับปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย ด้วยพระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้เกิดโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงดอยปุยขึ้นมา ทำให้เกิดการสร้างอาชีพ ปลูกไม้ผลที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ในอดีตปลูกแค่อะโวคาโดพันธุ์พื้นเมือง ไม่มีองุ่น ไม่มีพีช ฯลฯ และเนื่องด้วยพื้นที่ที่จำกัด ทำให้ต้องทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ ทำให้การปลูกไม้ผลในปัจจุบันอยู่ในออเดอร์ของโครงการหลวง เช่น องุ่น ที่ส่งให้กับโครงการหลวง ตนมีความสุขกับสิ่งที่ทำ เพราะจากเดิมที่เคยทำสวนลิ้นจี่หลายร้อยต้น มีการใช้สารเคมีในปริมาณมากๆ เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่เป็นสารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เราได้ดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วย นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพของเรายังมีตลาดและช่องทางการจำหน่ายมากขึ้น โดยส่งทั้งตลาดนัดชาวดอย และส่งให้กับชุมชนและภายนอกได้ด้วย ทำให้เรามีวิถีชีวิตและรายได้ที่ดีขึ้นจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้น”

ปิดท้ายด้วย นางสาวลักขณา เหียง สาวน้อยชนเผ่าดาราอั้งตัวแทนเกษตรกรงานหัตถกรรมโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน “แต่เดิมเป็นลูกเกษตรกร ได้มองเห็นวิถีชีวิตด้านงานหัตกรรม ทอผ้า มาตั้งแต่เด็ก ในอดีตจะเป็นการทอผ้าเท่านั้น ไม่ได้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ โดยวิถีชีวิตในอดีต คนในชุมชนจะอาศัยอยู่แบบหลังคาหญ้าคา ไม่มีไฟฟ้า ถนนหนทางยากลำบากมาก แต่เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมวิถีชีวิตมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ มีโครงการเกิดขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงเข้ามาประจำการ และมองเห็นว่าการแต่งกายของชุมชนมีความน่าสนใจที่เป็นการทอผ้าเอง โดยมีการย้อมสีผ้าจากธรรมชาติและมีความรู้เรื่องการย้อมสีเป็นอย่างดี จากนั้นจึงมีเจ้าหน้าที่เข้ามาให้ความรู้เพิ่มมากขึ้น จึงเกิดการรวมกลุ่มหัตถกรรมย้อมสีผ้าธรรมชาติ โดยตนเองได้เดินทางออกจากหมู่บ้านเพื่อไปเรียนต่อ แล้วนำความรู้ที่ได้ กลับมาพัฒนาหมู่บ้านเพื่อให้ชนเผ่าดาราอั้งเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ถือเป็นการเสริมสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในกลุ่มด้วย นอกจากนี้ยังดูงานในแต่ละที่ โดยการผลิตสินค้าจะประยุกต์ และมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งลายปักดั้งเดิมของชนเผ่าดาราอั้งเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์คงไว้ โดยการทำอาชีพนี้ เป็นสิ่งที่มีความสุขมาก ถ้าเราไม่มีใจรัก เราไม่สามารถที่จะทำได้ อย่างน้อยเราต้องรักในสิ่งที่รัก แล้วเราก็จะทำได้ โดยความสุขที่ได้ประกอบอาชีพนี้คือการที่เราเห็นคนในกลุ่มมีรายได้จากการปันผลแต่ละปี แล้วได้นำรายได้ตรงนี้ ส่งลูกเรียน ซื้อกับข้าว ซื้อข้าวสารและสามารถนำไปเลี้ยงครอบครัวได้”


มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย